อินเทลผุดโครงการวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เน้นจับตลาดเทคโนโลยีผู้บริโภค
พร้อมระบุเล็งเปิดตัวได้ต้นปีหน้า
อินเทลจับมือมหาวิทยาลัยมะกันชั้นนำผุดโครงการพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋ว พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็ก
ชูคุณสมบัติแกะรอยการเคลื่อนไหวช่วยเหลือผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นจุดขาย ขณะที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีความถี่วิทยุ
เล็งลดค่าใช้จ่ายเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า บริษัท อินเทล
คอร์ป. ผู้ผลิตชิพอันดับหนึ่งของโลก ได้เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการร่วมกับอาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐหลายแห่ง ทั้งนี้
อินเทลได้จัดตั้งห้องทดลองขนาดเล็กขึ้นเป็นจำนวนมาก ใกล้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่งของสหรัฐ เพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ โดยมุ่งเน้นที่การติดตั้งชิพลงบนอุปกรณ์
และสารขนาดเล็ก
ตัวแทนบริษัท อินเทล เปิดเผยว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้รวมถึงหุ่นยนต์ซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากระเป๋าสตางค์
ซึ่งได้รับการตั้งโปรแกรมให้ตามรอยวัตถุที่มีสีแดงอยู่ อาทิ หุ่นจะวิ่งไล่ตามตุ๊กตาหมีสีแดงได้
ขณะที่นายจิม บัตเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรมของอินเทล กล่าวว่า ทางบริษัทยังร่วมมือกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้
เมลลอน แห่งมลรัฐพิตส์เบิร์ก เพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์รวม
และแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับผลิตหุ่นยนต์ เพื่อให้บริษัทต่างๆ
สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการออกแบบหุ่นยนต์ของตนเองในอนาคตได้ นอกจากนี้
นักวิจัยอินเทลยังสาธิตเทคโนโลยีสำหรับใช้ตรวจสอบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือใช้ช่วยเหลือคนแก่
ซึ่งเป็นโครงการวิจัยหลักอีกตัวหนึ่งของบริษัท
อุปกรณ์ในชุดนี้ประกอบด้วยกล้องวิดีโอ, อุปกรณ์ตรวจสอบความเคลื่อนไหว
และเครื่องมือตรวจจับขนาดเล็ก ซึ่งจะติดตั้งไว้ในเก้าอี้ เครื่องใช้ภายในบ้าน หรือพรม
เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ผ่านทางการส่งสัญญาณกับป้ายอินฟราเรด หรือป้ายรหัสประจำตัวคลื่นวิทยุที่อยู่บนรองเท้าหรือเสื้อผ้า
นายอีริค ดิชแมน นักวิจัยรายหนึ่งของอินเทล
เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะทดสอบระบบดังกล่าวกับอุปกรณ์ภายในบ้านของผู้บริโภคสหรัฐราว 24 ชิ้น ในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า
และอาจมีการทดสอบในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน "เรากำลังทดสอบอุปกรณ์เหล่านี้กับระบบบ้านพยาบาล
และจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพก่อนเป็นอันดับแรก"
นายดิชแมน กล่าว
ขณะที่หัวใจสำคัญของโครงการอีกตัวหนึ่งรวมถึงอุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็ก
ซึ่งมีชื่อว่า "โมทส์" (motes) และเป็นผลงานวิจัยแรกเริ่มของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อุปกรณ์ดังกล่าวจะบรรจุหน่วยประมวลผล, เก็บข้อมูล และเทคโนโลยีอาร์เอฟขนาดจิ๋วไว้ภายใน
เพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลระหว่างกัน ตัวแทนอินเทล กล่าวว่า ในการทดสอบภาคสนาม นักวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับดังกล่าวทั้งหมด
16 ตัว ไว้ในไร่องุ่น โดยวางไว้ห่างจากกัน 33 ฟุต เครื่องจะทำการตรวจสอบอุณหภูมิหรือมาตรวัดสภาพอากาศอื่นๆ ทุกๆ 5 นาที พร้อมทั้งส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังเครื่องตรวจจับบริเวณใกล้เคียง จนกระทั่งข้อมูลเดินทางไปถึงเครื่องแม่ข่ายหลัก
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะน้ำแข็งกัด เชื้อรา และปัญหาอื่นๆ
นอกจากนี้ นายเดวิด เทนเนนเฮาส์
ผู้อำนวยการแผนกวิจัยของอินเทล ยังเปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ตั้งแผนกเรดิโอ ฟรี
อินเทล ขึ้นสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีอาร์เอฟ (RF technology) เวอร์ชั่นราคาถูก เพื่อ "ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อไร้สาย เพื่อให้ทางบริษัทสามารถติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวในชิพทุกตัวได้"
โดยท้ายที่สุดแล้ว อาจมีการนำเครื่องตรวจจับดังกล่าวไปติดตั้งไว้ในเครื่องล้างจาน
และเครื่องใช้อื่นๆ เพื่อใช้บันทึกการสั่นสะเทือนในเครื่องจักร ซึ่งจะมีประโยชน์ในการส่งสัญญาณเตือนผู้ใช้เกี่ยวกับปัญหาอุปกรณ์ชำรุดหรือมีรูรั่วได้
นายเทนเนนเฮาส์ กล่าวว่า บริษัทโบอิง ได้ทดลองทาสีซึ่งผสมกับเครื่องมือตรวจจับเหล่านี้บนปีกเครื่องบิน
เพื่อใช้บันทึกความเร็วลม และข้อมูลอื่นๆ แล้ว ขณะเดียวกัน ทางบริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
แห่งประเทศอังกฤษ ในการพัฒนาเครือข่ายแห่งยุคหน้า
และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในการผลิตอุปกรณ์ดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีระบุพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2546
|