อินเทลเผยโฉมเทคโนโลยีชิพใหม่
รวมคุณสมบัติการประมวลและการสื่อสารเข้าไว้ด้วยกัน
ซาน ฟราสซิสโก - บริษัทอินเทล
ใช้เวทีงานประชุม "อินเทล ดิเวลลอปเปอร์ ฟอรั่ม"
แจงรายละเอียดชิพคอมพิวเตอร์สมุดพกเทคโนโลยีบาเนียสตัวแรก
พร้อมเปิดตัวชิพเพนเทียม 4 รุ่นใหม่ และสาธิตการใช้งานตัวประมวลผลไอทาเนียมเวอร์ชั่นใหม่
ที่ออกแบบให้รองรับการคำนวณข้อมูลจำนวนมหาศาล
สำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานโดยอ้างคำกล่าวโฆษกบริษัทอินเทลว่า ทางบริษัทคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้
ราว 4,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวิศวกร และมีจำนวนมากกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา งานประชุมดังกล่าว
มีขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทอินเทล
สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หลังจากการถดถอยอย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2544
พร้อมกันนี้ บริษัทอินเทล
ได้แถลงนโยบายที่ทางบริษัทดำเนินการมากว่า 1 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวมคุณสมบัติการประมวลและการสื่อสารเข้าไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้ อินเทล อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มแหล่งรายได้อื่น นอกเหนือจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
หรือพีซี ด้วยการจับตลาดชิพเพื่อการสื่อสาร และสนับสนุนการพัฒนาคอมพิวเตอร์พกพา
และอุปกรณ์ไร้สายรุ่นใหม่ๆ "อุปกรณ์ประมวลผลทุกประเภท
จะสามารถใช้งานเป็นอุปกรณ์สื่อสารได้ ทั้งนี้ พีซี จะมีคุณสมบัติในการสื่อสารมากขึ้น
ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่จะสามารถประมวลผลได้ดีกว่ารุ่นในปัจจุบัน" นายไวซ์ เวอร์ซา โฆษกบริษัทอินเทล กล่าว
นายนาธาน บรูควูด นักวิเคราะห์บริษัทอินไซต์ 64 กล่าวว่า
บริษัทอินเทล วางแผนจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับชิพบาเนียส ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าตัวประมวลผล
และกำลังเจรจาเพื่อนำมาตรฐาน 802.11 มาใช้เพื่อเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
และเครือข่ายแบบไร้สาย ด้านนายเครก บาร์เรตต์ หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทอินเทล
กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ คือ การยืดอายุแบตเตอรี่ ให้ใช้งานได้นานขึ้น
นายบรูควูด กล่าวอีกว่า บริษัทอินเทล ยังเปิดเผยรายละเอียดตัวประมวลผลไอทาเนียม
2 เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งมีชื่อรหัสว่า "เมดิสัน"
(Madison) โดยตัวประมวลดังกล่าว จะมีหน่วยความจำมากกว่า ไอทาเนียม 2 และใช้วงจรไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทอินเทล ย้ำว่า ทางบริษัทมีแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อการวิจัยและพัฒนา แม้ว่าตลาดพีซีจะอ่อนตัว
ขณะที่ บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด
เปิดตัว เทคโนโลยี"โมเลกุล กริด" ระบุเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญด้านนาโนเทคโนโลยี
ใช้ผลิตชิพรุ่นใหม่ ราคาถูก ความเร็วสูง และมีขนาดเล็กลง โมเลกุล กริด
เป็นแนวคิดมาตรฐานในแผนงานนาโนเทคโนโลยีของบริษัทเอชพี ซึ่งมองว่า ชั้นของเส้นใยโมเลกุล
ซึ่งวางตัวเป็นแนวกากบาท เป็นวงจรอัจฉริยะรูปตาข่ายขนาดเล็ก โดยตาข่ายโมเลกุลดังกล่าว
จะอยู่ระหว่างเส้นลวดของชิพทั่วไป เพื่อทำหน้าที่เป็นเครือข่ายสื่อสาร หรือใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างตัวประมวลผลที่สมบูรณ์
ในปัจจุบัน นักวิจัยของบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจกับนาโนเทคโนโลยีมากขึ้น
เนื่องจาก เป็นวิทยาศาสตร์ของการสร้างชิพคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ประเภทอื่น ที่มีขนาดเล็กกว่า
100 นาโนเมตร โดยเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างชิพ
และอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ ที่ขนาดเล็กลง มีความเร็วในการประมวลผลสูงขึ้น ประหยัดพลังงาน
และราคาถูกว่าชิพในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการเปิดประตูไปสู่การวิจัยในแขนงใหม่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2545
|