รายงาน : "นวัตกรรมใหม่" กลยุทธ์ชนะคู่แข่งแดนโสมขาว

ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานที่สูงถึง 75% ของประชากรรวม และความนิยมใช้บริการคอนเท้นท์ที่หลากหลาย กำลังเผชิญ กับความท้าทายอีกครั้ง เมื่อผู้ให้บริการประสบกับภาวะของข้อจำกัดด้านการเติบโตของยอดผู้ใช้งาน ที่ชะลอตัวเหลือ 4.7% ในปีนี้ จากอัตรา 8.5% ในปี 2543 ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ดำเนินบทบาทกำกับดูแลการแข่งขัน ของผู้ให้บริการรายใหญ่อย่างเข้มงวด ทั้งการใช้นโยบายใช้เลขหมายเดิมแต่เปลี่ยนผู้ให้บริการ (Number Portability), จำกัดโควตาการขายเครื่องลูกข่ายภายใต้แบรนด์ตัวเองในระดับ 1.5 ล้านเครื่องต่อปี ปัจจัยข้างต้น ผลักดันให้เอสเค เทเลคอม ผู้ให้บริการมือถืออันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 52.7% จำเป็นต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่าง และหนุนเป้าหมายรั้งตำแหน่งผู้นำ

 

ล่าสุด เอสเค เทเลคอม กำลังผันประสบการณ์ความชำนาญเทคโนโลยี และการตลาดที่มีอยู่ ขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ยกระดับเข้าสู่บริษัทสื่อสารระดับโลกด้วย โดยใช้ความสำเร็จการสร้างบริการ มัลติมีเดียไร้สาย เป็นตัวนำ ควบคู่ไปกับแตกธุรกิจด้านบริการที่ปรึกษา, ขายไลเซ่นเทคโนโลยีแพลทฟอร์มให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าหนทางการปรับตัวโดยหันไปโฟกัสตลาดต่างประเทศจะราบรื่น เพราะผู้ประกอบการค่ายเกาหลี ยังต้องชิงชัยกับบริษัทสื่อสารมัลติมีเดียในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงตลาดไทย ที่บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสร่วมเป็นพันธมิตรเอ็นทีที โดโคโม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ล่าสุด เอสเค เทเลคอม ได้ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ เพื่อผนึกกำลังพัฒนาคอนเท้นท์ด้านมัลติมีเดียไร้สาย สำหรับให้บริการบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

ทุ่มงบวิจัย-พัฒนา 7% จากรายได้รวม

นายซุง โชล ฮอง รองประธาน โกลบอล บิสซิเนส ดิวิชั่น บริษัท เอสเค เทเลคอม กล่าวว่า บริษัทใช้งบประมาณวิจัยและพัฒนา 7% ของรายได้รวมเพื่อพัฒนาบริการใหม่ๆ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด "การเลือกวิจัยและพัฒนาเอง ทำให้สามารถออกบริการใหม่สู่ตลาดได้เร็วและสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งเพราะไม่ต้องใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์เดียวกับที่มีอยู่ในตลาดจากเวนเดอร์" รองประธาน กล่าว อย่างไรก็ตาม หัวใจของงานพัฒนาก็คือ บริการใหม่ๆ ต้องดึงดูดการใช้งานลูกค้า และสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าใช้บริการง่ายทำงานได้จริง สร้างการเรียนรู้และการยอมรับในตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสร้างรายได้จากบริการมัลติมีเดียไร้สายของบริษัทให้ประสบความสำเร็จ

 

เรดาร์ไล่ยุง-ไดเอ็ท ริงโทน

ทั้งนี้ เขายกตัวอย่างนวัตกรรมบริการที่ดึงดูดความสนใจ ได้แก่ เรดาร์ไล่ยุง โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดมาใช้เก็บไว้ในเครื่อง ซึ่งเรดาร์ดังกล่าวเป็นคลื่นยุงตัวผู้ และสามารถไล่ยุงตัวเมียออกไปจากรัศมี รวมทั้ง ไดเอ็ท ริงโทน สำหรับเอาใจวัยรุ่นที่ห่วงเรื่องน้ำหนัก โดยเป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อผู้ฟังได้ยินเสียงเพลงแล้ว จะลดอาการอยากอาหารลง นอกจากนี้ ยังมีริงโทนเรียกสมาธิ ทำให้จิตใจผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดได้

 

3 ธุรกิจใหม่แห่งอนาคต

นายแซม ชิม ผู้ช่วยผู้จัดการ โกลบอล บิสซิเนส ดิวิชั่น บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า บริษัทพัฒนาธุรกิจใหม่ 3 กลุ่มหลัก เพื่อรักษายอดรายได้การให้บริการที่ไม่ใช่เสียง (นอน-วอยซ์)ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนำร่องจากบริการ โมบาย แบงกิ้ง ซึ่งมือถือที่ใช้ต้องเป็นรุ่นที่รองรับการให้บริการโดยมีชิพที่ใช้งานเฉพาะในเครื่องด้วย สำหรับกลุ่มแรก จะครอบคลุมบริการเครดิตการ์ด ซึ่งผู้ใช้มือถือสามารถนำเครื่องชำระค่าสินค้าและบริการตามเครื่องรับชำระเงิน ณ จุดขาย (พีโอเอส) โดยในมือถือจะใช้ชิพเฉพาะบรรจุข้อมูลเลขหมายบัตร เมื่อต้องการชำระเงินลูกค้าเพียงกดเรียกใช้บริการ พร้อมกดรหัสผ่าน (พิน โค้ด) แทนการถือบัตรเครดิต

 

บริการอี-แบงกิ้ง ซึ่งใช้ชิพในมือถือ ฝากถอนเงินสด, โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม โดยที่เครื่องเอทีเอ็ม จะมีช่องอินฟราเรดรับข้อมูลเลขหมายบัตรเงินสด และอ่านค่าเลขหมายจากมือถือ ส่วนผู้ใช้สามารถกดรหัสใช้งาน (พินโค้ด) ในเครื่อง โดยไม่ต้องพกบัตรเอทีเอ็ม ขณะที่ ธุรกิจใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง จะเน้นบริการกระจายภาพและเสียงดิจิทัลผ่านดาวเทียมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Satellite DMB) ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากที่ผ่านมาลงทุนจัดส่งดาวเทียมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว "บริการนี้ เป็นไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะหลอมรวม (คอนเวอร์เจนซ์) การสื่อสารเข้ากับการแพร่ภาพกระจายเสียง (บรอดคาสติ้ง) ทำให้เราสามารถให้บริการรับชมรายการโทรทัศน์แบบเรียลไทม์ได้ ในโทรศัพท์มือถือและในรถยนต์" ส่วนกลุ่มสุดท้าย มุ่งไปยังบริการโมบาย อินเทอร์เน็ต เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์ ผ่านอุปกรณ์พีดีเอ, มือถือ และโน้ตบุ๊ค

 

5 บริการเสริมยอดนิยม

สำหรับปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย 2,000 ล้านบาท หรือ 20% จากรายได้รวม 10,000 ล้านบาท เติบโตจาก 4.4% และ 16.6% ในปี 2544 และ 2546 ตามลำดับ โดยบริการที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ได้แก่ บริการแมสเสจจิ้ง 26.7%, เพลง 24.1%, คอนเท้นท์และข้อมูล 16.4%, เกม 6.2 % และการทำธุรกรรมผ่านมือถือ 2.6% ทั้งนี้ โครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทและผู้พัฒนา อยู่ในสัดส่วน 80 ต่อ 20 จึงทำให้มีพันธมิตรด้านคอนเท้นท์ โพรไวเดอร์ถึง 900 ราย และบริการกว่า 30,000 รายการ ปัจจุบัน เอสเค เทเลคอม ครองส่วนแบ่งตลาดมือถือในเกาหลีใต้ 52.7% มีรายได้ต่อเลขหมาย 35.7 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา ได้แก่ เคทีเอฟ 32.3% และแอลจี เทเลคอม 15.1% ด้วยรายได้ต่อเลขหมาย 32.2 และ 28.7 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

 

เร่งสร้าง "แบรนด์ย่อย" เพิ่มช่องทางรายได้

นายซิม กล่าวอีกว่า พฤติกรรมผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในเกาหลี นิยมเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทำให้มีเครื่องรุ่นใหม่ในตลาดจำนวนมาก และหลากหลายกว่า 70 รุ่น พร้อมคุณสมบัติรองรับการใช้งานเฉพาะด้าน ทั้งโมบาย บรอดคาสติ้ง, โลเคชั่น เบส เซอร์วิส และโมบาย ไฟแนนซ์ เป็นต้น เครื่องลูกข่ายเป็นสิ่งสำคัญที่รองรับการใช้งานบริการใหม่ๆ ในตลาดให้กับลูกค้าได้ โดยบริษัทเองก็มีบริษัทลูก เอสเค เทเลเทค ผลิตเครื่องลูกข่ายภายใต้ยี่ห้อสกาย ด้วยเช่นกัน

 

ด้าน นายโทมัส กัง ผู้จัดการอาวุโสกล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทลูกจะเริ่มผลิตเครื่องลูกข่ายระบบจีเอสเอ็ม เพื่อขยายตลาดในอเมริกา, จีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย จากปัจจุบันที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ โดยรัฐไม่อนุญาตให้อุดหนุนราคาเครื่อง (Subsidy) และจำกัดให้บริษัทจำหน่ายได้ 1.5 ล้านเครื่องต่อปีเท่านั้น ที่ผ่านมาเรามุ่งตลาดซีดีเอ็มเอ แต่จะขยายตลาดเข้าจีเอสเอ็มมากขึ้น เพราะจะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้ นอกจากนั้น บริษัทสร้างชื่อบริการย่อย (ซับแบรนด์)ในตลาดตามกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้แบรนด์ ทีทีแอล กลุ่มวัยรุ่น 14-18 ปี, ติง (Ting) สำหรับวัย 19-24 ปี, อูโต (UTO) เจาะกลุ่มธุรกิจ และคาร่า (CARA) เจาะกลุ่มแม่บ้าน นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อบริการสำหรับมัลติมีเดียไร้สายผ่านพอร์ทัล ที่ล่าสุดมี จูน (JUNE) ที่มีใช้เทคโนโลยี EV-DO, บริการเนท (NATE) แพลทฟอร์มสำหรับอินเทอร์เน็ตไร้สาย เทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ 2000วัน เอ็กซ์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.