สศอ.เตือนอุตฯไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย

จี้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาอาร์แอนด์ดี-คิดนวัตกรรมใหม่ๆ

สศอ. ส่งสัญญาณเตือนอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย กระตุ้นผู้ประกอบการเร่งเพิ่มขีดแข่งขัน เร่งส่งเสริมการพัฒนาและวิจัย สร้างแบรนด์สินค้า และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต เลิกพึ่งเทคโนโลยีต้นแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก

 

นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.มีความเป็นห่วงอุตสาหกรรมไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากผู้ประกอบการยังไม่เร่งปรับตัวเพิ่มขีดแข่งขัน โดยปรับแนวทางดำเนินธุรกิจสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างศักยภาพการผลิต โดยสศอ.ได้ศึกษาและกำหนดแนวทางเพิ่มขีดแข่งขันผู้ประกอบการ ซึ่งเบื้องต้นต้องเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ด้านเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้า และผลักดันให้เกิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มทักษะความชำนาญเฉพาะด้านแก่ผู้ประกอบการ

 

ทั้งนี้จากการจัดทำข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมไทย 14 สาขาเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง พบว่า อุตสาหกรรมไทยยังมีความได้เปรียบหลายๆประเทศในด้านค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ที่มีต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานสูงกว่าไทย 46-52 เท่า ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนเสียเปรียบไทย แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย เนื่องจากไทยมีโครงสร้างอุตสาหกรรมเอื้อต่อการทำธุรกิจและจูงใจมากกว่า รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน ทำให้ตลาดทั้งภายในและตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่โดดเด่นได้แก่ อาหาร ประเภทแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ซึ่งไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งตลาด 54% เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบข้าวและปลายข้าว และมีการทำอาร์แอนด์ดีสม่ำเสมอ ทำให้ผลิตสินค้าที่หลากหลายตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ พบว่า มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าไทย

 

อย่างไรก็ตามผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่ามีอุตสาหกรรมอาหารบางประเภทยังมีจุดอ่อน อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปข้าว เช่น เส้นหมี่-เส้นก๋วยเตี๋ยว ที่เสียเปรียบสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์ใช้เครื่องจักรทันสมัยทำให้ลดต้นทุนได้ในระยะยาว และผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากกว่าทั้งคุณค่าโภชนาการและบรรจุภัณฑ์  ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ประเภทถุงมือยาง มาเลเซียครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของโลกมียอดส่งออกมากกว่าไทย 2.3 เท่า และผลิตสินค้าได้ 10,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ส่วนไทยผลิตได้ 3,000-6,000 ชิ้นต่อชั่วโมง นอกจากนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับ จีน และเกาหลีใต้ พบว่า ไทยด้อยกว่าเล็กน้อย เพราะไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต้นแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก ขาดการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ปัญหาสำคัญขณะนี้โรงงานขาดความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งหากเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และเยอรมนี ไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสนใจกับการศึกษาประสิทธิภาพการผลิต มาตรฐานบรรจุภัณฑ์ และการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาการผลิตนางชุตาภรณ์กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.