มะกันผุดมาตรฐานใหม่เพิ่มความเร็วส่งข้อมูลชิพ
คาดเอเอ็มดีดึงใช้ในกระบวนการผลิตหลัก
ซาน โฮเซ่ - สมาคมยักษ์ใหญ่ เผยโครงการเปิดตัวมาตรฐานเทคโนโลยีเชื่อมต่อชิพความเร็วสูงเวอร์ชั่นใหม่
"ไฮเปอร์ทรานสปอร์ต 2.0" ชี้เพิ่มความเร็วรับส่งข้อมูลมหาศาล
พร้อมลดค่าใช้จ่ายการออกแบบเครื่องแม่ข่าย ขณะที่เล็งพัฒนาใช้ใยแก้วนำแสงเพิ่มความเร็วเชื่อมต่อ
สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า
สมาคมไฮเปอร์ทรานสปอร์ต คอนซอร์เทียม ประกาศเตรียมเปิดตัวเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างชิพพีซีความเร็วสูงระบบใหม่ "ไฮเปอร์ทรานสปอร์ต
2.0" (HyperTransport 2.0) ในหนึ่งปีข้างหน้า เทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ต
2.0 จะช่วยให้ชิพสามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ในอัตราความเร็วราว
20-40 กิกะไบต์ ต่อวินาที
ขึ้นกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมของชิพแต่ละตัว โดยนายกาเบรียล ซาร์โทริ ผู้อำนวยการสมาคม
และผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือด้านกลยุทธ์ของบริษัทเอเอ็มดี ให้ความเห็นว่า
อัตรารับส่งข้อมูลดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของเครื่องแม่ข่ายและพีซีได้มหาศาล
ทั้งนี้ สมาคมไฮเปอร์ทรานสปอร์ต คอนซอร์เทียม เป็นกลุ่มความร่วมมือหลักในอุตสาหกรรมการผลิตชิพ
และเป็นผู้ควบคุมข้อกำหนดด้านเทคโนโลยีสำหรับเชื่อมต่อระหว่างชิพกับชิพของชิพออพเทอรอน (Opteron) ที่ผลิตโดยบริษัทเอเอ็มดี
พร้อมกันนี้ ทางสมาคม มีกำหนดเปิดตัวเวอร์ชั่นปรับปรุงของเทคโนโลยี ไฮเปอร์ทรานสปอร์ต
1.0 รุ่นแรก ภายในอาทิตย์นี้ ภายใต้ชื่อ ไฮเปอร์ทรานสปอร์ต 1.05
รวมทั้งโปรแกรมสนับสนุนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถผลิตสินค้าที่รองรับเทคโนโลยีดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
นักวิเคราะห์และผู้บริหารของเอเอ็มดีหลายราย
เปิดเผยว่า เทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ต จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูลระหว่างชิพได้มหาศาล
เนื่องจากสามารถกำจัดคอขวดจำนวนมากที่มีอยู่ในเครื่องแม่ข่ายได้ รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาระหว่างที่ชิพประมวลผลขอข้อมูลจากหน่วยความจำ
จนถึงระยะเวลาที่ได้รับข้อมูลจริงลง อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการออกแบบเครื่องแม่ข่ายลง
เนื่องจากผู้ผลิตสามารถใช้ส่วนประกอบเดียวกันในการผลิตเครื่องแม่ข่ายที่อาศัยชิพ 2 ตัว
และเครื่องแม่ข่ายที่ใช้ชิพ 4 หรือ 8
ตัวได้ ขณะที่กระบวนการผลิตเดิมไม่สามารถทำได้
นายซาร์โทริ กล่าวอีกว่า
ทางสมาคมจะเปิดตัวเทคโนโลยีเวอร์ชั่น 2.0 ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ชิพที่อาศัยมาตรฐานดังกล่าวจะมีความเร็วรับส่งข้อมูลระหว่างขาชิพแต่ละตัวในอัตรา
3-5 กิกะไบต์ต่อวินาที และมีแถบความถี่ (bandwidth) สำหรับรับส่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า นายไบรอัน
หว่อง รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมบริษัทไพรมาเรียน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างชิพด้วยใยแก้วนำแสง
เปิดเผยว่า อาจมีการนำเทคโนโลยีใยนำแสงมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ต ให้มีความเร็วสูงขึ้นได้อีกในอนาคต
โดยทางบริษัทเตรียมยื่นรายงานเสนอการพัฒนาไฮเปอร์ทรานสปอร์ต เวอร์ชั่นใยแก้วนำแสงภายในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ ใยแล้วนำแสงจะส่งข้อมูลผ่านทางโฟตอนส์ (photons) ซึ่งสามารถเดินทางได้เร็วกว่าอิเล็กตรอน
ขณะที่ปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่า
ในปัจจุบัน มีการวางจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ตในตลาดทั้งหมด
39
ตัว ขณะที่นายซอร์โทริ เปิดเผยว่า บริษัทที่ร่วมสนับสนุนมาตรฐานนี้รวมถึง
บริษัทซิสโก ซิสเต็มส์ บริษัทเอ็นวิเดีย และบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ โดยเอเอ็มดีมีอัตราการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสูงสุด
ด้านนายจิม เทอร์เลย์ นักวิเคราะห์ตลาดไมโครโพรเซสเซอร์ เปิดเผยแนวโน้มว่า ชิพประมวลผลของเอเอ็มดีในอนาคตจะอาศัยเทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ตในการผลิตเป็นหลัก
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2546
|