ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ฮับโลจิสติกส์ เพิ่มขีดแข่งขันไปรษณีย์ไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุนโยบายปั้นไทยติดกลุ่ม "ฮับ"
ด้านโลจิสติกส์ หนุนโอกาสเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจไปรษณีย์ไทย
ในยุคที่แนวโน้มใช้บริการไปรษณีย์ลดลง
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออก
ที่มีประมาณการว่าจะขยายตัวถึง 20% ในปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้าอีก 8% ตลอดจนรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้นำระบบโลจิสติกส์ มาใช้เพิ่มศักยภาพนั้น
จะส่งผลดีต่อกิจการไปรษณีย์ไทยให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยในแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยนั้น
กิจการไปรษณีย์ ถูกจัดให้อยู่ในส่วนของการให้บริการรับส่งสินค้าและพัสดุให้ถึงมือผู้รับ
(Door to Door Service) ซึ่งเป็นบริการทั้งในและระหว่างประเทศร่วมกับ
ร.ส.พ. และการบินไทย
จำกัด ซึ่ง
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า บทบาทที่สำคัญของกิจการไปรษณีย์ไทยในกระบวนการโลจิสติกส์มีความเป็นไปได้สูง
ที่จะช่วยเสริมให้ระบบโลจิสติกส์ของไทยได้รับการพัฒนาขึ้น เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งหลายประการ
ได้แก่ การมีเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนสาขาให้บริการจำนวนมากถึง
4,219 แห่ง แบ่งออกเป็นที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย 954 แห่ง
และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,271 แห่ง ซึ่งพร้อมรองรับบริการ
โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีจุดบริการไปรษณีย์ทั่วถึง นอกจากนี้
ยังมีจำนวนพนักงานทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม
และสามารถดำเนินการได้สะดวก มีความชำนาญในการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน
ค่าบริการไปรษณีย์ของไทยยังจัดว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับอัตราค่าบริการไปแล้ว
แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับบริการไปรษณีย์ของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม
ไปรษณีย์ไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อม และปรับตัวเพื่อรับมือการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
ด้านสินค้าและบริการ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการระดับโลกจากหลายประเทศ
เช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ต้องการมาเปิดให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของบริการส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน
(Express Delivery Services : EDS) และบริการด้านการขนส่งแบบโลจิสติกส์
นอกจากนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีการเปิดเสรี
บริการขนส่งทางไปรษณีย์ในประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการต่างประเทศ
เช่น เฟดเด็กซ์, ดีเอชแอล, ทีเอ็นที ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญในบริการขนส่งระบบโลจิสติกส์
มีเครือข่ายให้บริการที่ครอบคลุมทั่วโลก เข้ามาให้บริการในไทยอยู่แล้ว ดังนั้น
หากธุรกิจบริการไปรษณีย์และขนส่งเหล่านี้ เข้ามาให้บริการในประเทศอย่างเต็มรูปแบบก็อาจส่งผลต่อภาวะการให้บริการ
ของไปรษณีย์ไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นบริการที่คล้ายคลึงกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม
2547
|