เอชพีห่วงรัฐแทรกแซงราคาเกรงถูกตอบโต้การค้า
แนะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับเข่ากำหนดกรอบร่วมกัน
พร้อมเสนอ 4
ปัจจัยหลักพัฒนาอุตสาหกรรมไอที
เอชพีเตือนนโยบายแทรกแซงราคาไม่ส่งเสริมภาครวมของอุตสาหกรรมทั้งระบบ
แนะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับเข่ากำหนดกรอบร่วมกัน พร้อมเสนอ 4 ปัจจัยหลักพัฒนาอุตสาหกรรมไอที ทั้งความพร้อมของปัจจัยในประเทศ, ความต้องการของตลาด, โครงสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง
และการแข่งขัน
นายเชิดศักดิ์
กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย)
จำกัด กล่าวว่า บทบาทของรัฐที่เน้นด้านราคาด้วยวิธีการแทรกแซงตลาดเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความสอดคล้องกับความเป็นจริงทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบไม่เติบโต
ซึ่งระยะยาวจะสร้างปัญหาให้กับประเทศได้ ยกตัวอย่าง นโยบายคอมพิวเตอร์ราคาถูก
หรือโลคัลพีซี เป็นการกีดกันผู้ประกอบการข้ามชาติ ไม่ให้สามารถเข้าตลาดได้ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อสินค้าบริการอื่นที่ประเทศไทยส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ถูกกีดกันด้วยเช่นกัน
"สิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงผลระยะยาว
โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ราคาถูกจากประเทศจีน ซึ่งราคาถูกกว่าไทย
มีแนวโน้มจะเข้ามาทำตลาด และเมื่อรัฐเน้นนโยบายนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธสินค้าเหล่านี้ได้
โดยมาตรฐานของสินค้าจะเป็นปัญหาให้ผู้ใช้ในอนาคต รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย"
นายเชิดศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม
รัฐควรดำเนินงานส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศพยายามสร้างกรอบและรูปแบบร่วมกันในการพัฒนา
เพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์, ผู้พัฒนาระบบ, ผู้ให้บริการ
(เซอร์วิสโพรไวเดอร์) และนักพัฒนาซอฟต์แวร์
กับผู้ใช้บริการ รวมถึงนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
ที่สร้างผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมไอที
ทั้งนี้การแข่งขันด้านราคาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะปรับลดราคาสินค้าลงให้สามารถแข่งขันได้
เมื่อสินค้าถูกจำกัดด้วยราคา จะส่งผลให้คุณภาพ และบริการหลังการขายที่ผู้บริโภคควรได้รับถูกตัดออก
เพื่อลดต้นทุน ทั้งบริษัทที่มีเงินน้อยจะไม่สามารถอยู่ในตลาดได้ต้องยกเลิกกิจการ ผลกระทบจะตกอยู่กับผู้บริโภคและบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีตลาดแรงงานรองรับ
อาจเกิดภาวะว่างงานได้
อย่างไรก็ตาม
การพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน
ผู้ผลิต และสถาบันการศึกษา ควรจะระดมสมอง เพื่อหากรอบการพัฒนาร่วมกันสำหรับภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม
โดยความคิดส่วนตัว
มองว่า สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
น่าจะสร้างหลักสูตรส่งเสริมฝีมือแรงงานไทย และการจัดหลักสูตรอบรมบุคลากรที่เพิ่มจบการศึกษาใหม่
ให้ความชำนาญและประสบการณ์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่แรงงานเหล่านี้จะมีทักษะการทำงานได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีประสบการณ์ทำงานผ่านไป 2 ปี การสร้างกรอบแนวทางร่วมกันจะส่งเสริมให้บุคลากรของไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ได้ หลักสูตรและวิธีการอบรมแบบต่อเนื่อง ช่วยให้ประหยัดเวลาและงบประมาณลง ส่งเสริมให้ไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพพร้อมสำหรับการแข่งขันกับต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนงานที่เข้าไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อเสนอข้อมูลและแนวคิดของบริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไอทีภาพรวมของประเทศด้วย
เสนอ
4 แนวทางพัฒนาไอที
ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
(ไอที)
ของประเทศไทย ควรประกอบด้วยเงื่อนไข 4 ประการ
ได้แก่ 1. สถานและความพร้อมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต
ทักษะฝีมือแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการแข่งขัน 2. ความต้องการของตลาด
ด้านผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการ 3. อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่สนับสนุนการดำเนินงาน
เช่น โทรคมนาคม เป็นต้น และ 4. นโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ
ที่มีต่อการแข่งขัน โดยนโยบายของรัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมต่ออุตสาหกรรมให้เอื้อสำหรับการพัฒนาที่สามารถแข่งขันได้
การกำหนดเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนเพื่อเอื้อต่อการผลิตให้อยู่ในเขตที่มีโครงสร้างและอุตสาหกรรมสนับสนุนการทำงาน
และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการส่งเสริมฝีมือแรงงาน โดยการจัดตั้งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติด้านไอทีทำให้อุตสาหกรรมเกิดความเข้มแข็ง
เอชพีตั้งเป้าโต
10%
สำหรับผลการดำเนินงานปีนี้บริษัทตั้งเป้าโต
10% โดยตลาดใหญ่ยังเน้นที่ภาครัฐบาล เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีงบประมาณแน่นอน รวมถึงแผนงานการส่งเสริมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
หากรัฐใช้นโยบายด้านราคากับพีซี บริษัทก็จะปรับไปจำหน่ายสินค้าด้านสตอเรจ
เซิร์ฟเวอร์ หรือผลิตอื่น เป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสถานการณ์ตลาด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2546
|