เอชพีชูไทยเป็นฐานศูนย์เชี่ยวชาญอุตฯ รถยนต์แห่งอาเซียน
เอชพีเล็งตั้งศูนย์เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
สานรับนโยบาย
?ดีทรอยต์แห่งเอเชีย? ที่พร้อมสนับสนุนลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายฟิลิป ชัว ผู้จัดการทั่วไป
กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์
(เซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเล้นจ์) ในกรุงเทพฯ
โดยให้บริการที่ปรึกษา ติดตั้งพัฒนาซอฟต์แวร์ ออกแบบกระบวนธุรกิจ
ตลอดจนวางโครงสร้างพื้นฐานไอที ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์มีโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยืดหยุ่น
ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้แนวคิดของการทำตลาดแบบ
?อะแดปทีฟ เอ็นเตอร์ไพร้ส์? ของบริษัท
สาเหตุที่เลือกตั้งศูนย์ดังกล่าวในไทย เพราะสามารถสนับสนุนภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ประกอบกับปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันประเทศให้เป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย
ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ล่าสุด
บริษัทยังได้รับงานเสนอแนะกระบวนวิธีของการออกแบบบริหารศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ของบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ในการสนับสนุนการทำงานต่อเนื่อง
ทั้งในส่วนของความน่าเชื่อถือ และการติดตามการทำงานของระบบ โดยจีเอ็มได้ตั้งดาต้า
เซ็นเตอร์ ในไทย เพื่อสนับสนุนทุกประเทศในเอเชียด้วย
ทั้งนี้ เขามองว่า
แนวโน้มการลงทุนไอทีของอุตสาหกรรมรถยนต์ จะเน้นการติดตั้งระบบบริหารทรัพยากรองค์กร
(อีอาร์พี)
ระบบการออกแบบฮาร์ดแวร์ ซึ่งต้องใช้เวิร์คสเตชั่นจำลองภาพชิ้นส่วนรถยนต์
รวมถึงการทำระบบสำรองข้อมูลที่เก็บค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง (สตอเรจ ออน ดีมานด์)
ขณะที่นายอุลริค ฟาน เดอร์ เมียร์
รองประธานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต บริษัทเดียวกัน สำนักงานใหญ่สหรัฐ
กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจในภาคการผลิตสูงสุด
และตามมาด้วยไฮเทค/เซมิคอนดัคเตอร์, อุตสาหกรรมยา และวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต
(ไลฟ์ไซน์) และอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป เช่น
อากาศยาน, สินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า
ตลาดไลฟ์ไซน์และเภสัชกรรมนั้น คงเริ่มต้นในยุโรปและสหรัฐก่อน เพราะกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะจ้างวิจัยและพัฒนายาในองค์กรประกอบที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ
ให้กับบริษัทในอินเดีย
ด้านนายชัวกล่าวเสริมว่า หลายประเทศในภูมิภาคนี้
ทั้งไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไทย กำลังให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว ที่จะสร้างบริษัทวิจัยยาใหม่ๆ
ออกมา ซึ่งบริษัทจะพิจารณาประเทศที่ให้ความสำคัญลงทุนระยะยาว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม
2546
|