การ์ทเนอร์ชี้อี-คอมเมิร์ซยังมีอนาคต

การ์ทเนอร์ ยาหอมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยยังไปได้ไกล ระบุแรงหนุนจากจำนวนประชากรอินเทอร์เน็ต และนโยบายสมาร์ทการ์ดภาครัฐ กระตุ้นตลาดบีทูซีเติบโตถึง 111% ภายในปี 48 ขณะที่กระแสแข่งขันการค้าในตลาดโลก กดดันภาคธุรกิจปรับตัวสู่การทำบีทูบี ส่งผลตลาดขยายตัวกว่า 1,000% ในปีเดียวกัน

 

นายบ็อบ เฮย์เวิร์ด รองประธานอาวุโส เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า บริษัทมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งส่วนของธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี) และธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย สำหรับธุรกิจในรูปแบบบีทูซีนั้น คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตโดยเฉลี่ย 65% ระหว่างปี 2543-2548 โดยมีประมาณการว่าจะมีมูลค่าถึง 119,188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 จากมูลค่า 31,455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่น จะเป็นประเทศที่มีมูลค่าตลาดบีทูซีในปี 2548 สูงสุดถึง 62,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเกาหลี 10,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 10,807 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ยอดใช้เน็ต-สมาร์ทการ์ด กระตุ้นตลาดไทย

ขณะที่ ประเทศไทยนั้นมีอัตราเติบโตสูงตลอด 5 ปีในระดับ 111.3% โดยอยู่ในระดับ 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวน 147 ล้านดอลาร์สหรัฐในปี 2545 ทั้งนี้ ปัจจัยต่อการขยายตัวของมูลค่าการค้าผ่านธุรกิจบีทูซีของไทย ได้แก่ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และโครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด ตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ "การใช้สมาร์ทการ์ด ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจที่จะซื้อสินค้าผ่านเวบไซต์มากขึ้น โดยชิพที่ฝังในบัตร จะตรวจสอบตัวตนของบุคคลนั้นๆ ซึ่งประชาชนไม่จำเป็นต้องกรอกเลขหมายใดๆ แต่ระบบจะดึงข้อมูลจากบัตรสมาร์ทการ์ดไปตรวจสอบเอง" นายเฮย์เวิร์ด กล่าว

 

ซัพพลายเชน กระตุ้นบีทูบี

ทางด้านมูลค่าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 900% ระหว่างปี 2545-2548 โดยมีมูลค่าสูงสุด 1,095,321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2545 มีมูลค่าตลาด 109,537 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเกาหลีใต้ เป็นผู้นำด้วยตัวเลข 209,228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2548 ขณะที่มูลค่าธุรกิจบีทูบีในออสเตรเลีย อยู่ในระดับ 197,158 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 175,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับตลาดบีทูบีของประเทศไทย จะอยู่ในอันดับ 9 จากทั้งหมด 13 ประเทศ โดยประมาณการว่าจะมีมูลค่า 26,288 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 เติบโตขึ้น 1,091% ของมูลค่า 2,208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา "มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมหาศาลนั้น เนื่องมาจากภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความกดดันทางการค้า โดยเฉพาะจากซัพพลายเออร์ที่อยู่ในอเมริกาและยุโรป ที่ต้องการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งใบสั่งซื้อสินค้า, ใบยืนยันการสั่งซื้อสินค้าและอื่นๆ ที่ทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลงจากการติดต่อสื่อสารแบบดั้งเดิม ดังนั้นผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างทุกส่วนในอุตสาหกรรม ทั้งซัพพลายเชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์" นายเฮย์เวิร์ดกล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลในหลายประเทศ ก็ให้ความสำคัญความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องอาณาเขตของศาลในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่หลายๆ ประเทศมีกฎหมายด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ออกมาบังคับใช้ รวมถึงด้านเทคโนโลยีเอง มีการจัดตั้งองค์กรรับรองความถูกต้อง (ซีเอ : Certificate Authority) ที่ต้องมีมาตรฐานการรับรองข้อมูลระหว่างกันได้ เป็นต้น

 

5 ธุรกิจดาวรุ่งไอซีทีเอเชีย

ด้านนายดิออน วิกกินส์ ผู้อำนวยการวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ หรือไอซีทีนั้น ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในภูมิภาคนี้ มีอยู่ 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย

1. เวบ เซอร์วิส ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต ข้อตกลงการใช้มาตรฐาน วัฒนธรรมการนำมาใช้ใหม่ โดยทำให้เกิดการทำงานข้ามระบบเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรได้ สร้างโอกาสให้องค์กรธุรกิจในทุกระดับ ดังนั้น องค์กรธุรกิจเองจะต้องเริ่มทำเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งต้องใช้รูปแบบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานด้วย

2. การสื่อสารไร้สาย (โมบิลิตี้) ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีการประมวลแบบไร้สาย หรือโมบาย คอมพิวติ้ง ทั้งการมีจอสีกว้าง, กล้อง CMOS, การรวมพีดีเอในโทรศัพท์เคลื่อนที่, บลูทูธ, จีพีเอส เอ็มพี 3-/เอ็มเพค4 ทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นการให้บริการใหม่ๆ

3. สมาร์ทการ์ด ในหลายประเทศมีการดำเนินโครงการที่ทำบัตรประชาชนที่ใช้สมาร์ทการ์ด และเป็นมัลติ แอพพลิเคชั่น ให้บริการหลายอย่างในบัตรเดียว ช่วยลดการปลอมแปลงฉ้อโกงตัวบุคคลได้ และเพิ่มความสะดวกสบายการใช้บริการให้ประชาชน สร้างโอกาสทางธุรกิจและบริการใหม่ๆ

4. บริการด้านรับบริหารงานไอที (เอาท์ซอร์ส) ซึ่งในปีนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิซิฟิก จะจับตลาดการให้บริการไอที และเอาท์ซอร์สเป็นหลัก โดยมีอัตราเติบโต 35-40%

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น มีโอกาสสร้างส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้ จากการรับพัฒนาระบบงาน ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของภาครัฐ ความได้เปรียบค่าจ้างแรงงาน เสถียรภาพเศรษฐกิจ-สังคม อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ประเทศไทยยังมีปัจจัยลบจากขาดความชำนาญเทคโนโลยีหลัก, มีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก, ขาดบุคลากรที่มีทักษะระดับสูง, ความสามารถทางการตลาด การศึกษาบุคลากร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, บริษัทที่ได้รับมาตรฐานไอเอสโอและซีเอ็มเอ็ม ยังมีน้อย,และขาดมุมมองด้านสร้างตลาดระดับโลก

5. โอเพ่นซอร์ส/ลินิกซ์ ยังเป็นทางเลือกให้กับประเทศต่างๆ โดยในบางประเทศพยายามที่จะสร้างซอฟต์แวร์ของตนเอง ในภาพรวมแล้ว ระบบปฏิบัติการลินิกซ์เอง ยังถูกนำมาใช้ในตลาดเครื่องแม่ข่ายมากกว่าการใช้งานในเครื่องตั้งโต๊ะ โดยตลาดเครื่องแม่ข่าย 93.7% ลินิกซ์ 1.0% ส่วนเครื่องตั้งโต๊ะ วินโดว์ส 65.0% และลินิกซ์ 4.1%

 

มาเร็วเกินไปเหตุปิดเอบีเอ็กซ์

นายธวิช จารุวจนะ ประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส เอ็กซ์เชนจ์ จำกัด (เอบีเอ็กซ์) ซึ่งเป็นบริษัทด้านบีทูบีครบวงจร ที่บริษัทลงทุนไปราว 150-160 ล้านบาท เมื่อปี 2543 ได้ปิดตัวลง เหลือเพียงบริษัทในกระดาษ (Paper Company) และได้โอนลูกค้าที่มีอยู่มาไว้ที่เมโทรฯ ทั้งหมด โดยทุนที่ใช้ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนไปกับเครื่อง บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์ที่ทำร่วมกับพันธมิตรที่มาเลเซีย

"สาเหตุที่ต้องยุติกิจการ เป็นเพราะเรามาเร็วเกินไป แต่ทำธุรกิจไอที ถ้าไม่เริ่มอะไรใหม่ๆ ก็อยู่ไม่ได้ เราจึงลงทุนอยู่เสมอ ทำธุรกิจก็อย่างนี้ แทงถูกก็ดี ผิดก็เจ๊ง หากเราได้ประสบการณ์สร้างฮับดีๆ มาคอนเวิร์สเป็นดิสแอสเตอร์ รีคอฟเวอรี่ ทำธุรกิจกู้คืนข้อมูลให้บริการลูกค้าอยู่ในปัจจุบัน" นายธวิช กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.