ไอดีซีเชื่อตลาดเกมมือถือเอเชียโตทะลุเป้า
"ไทย" ตามติดเกาหลีใต้-จีน-ออสเตรเลีย มาเป็นอันดับที่สี่
บริษัทวิจัยตลาดชื่อดัง
ยันมูลค่าธุรกิจเกมมือถือเอเชีย เหยียบหลักพันล้านดอลลาร์ใน 2-3 ปีข้างหน้า
เหตุผู้บริโภค นิยมบริการบันเทิงไร้สาย ขณะที่มีการพัฒนาความเร็วเครือข่ายทั่วเอเชีย
ด้านผลสำรวจนิตยสารฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว
ชี้เหล่าผู้บริหารชื่นชอบแบรนด์ดัง แต่มือถือ 3จี-เครื่องเล่นเอ็มพี 3 ไม่ติดกลุ่มอุปกรณ์ยอดฮิต
สำนักข่าวซีเน็ต รายงานผลการศึกษาล่าสุด
ของบริษัทวิจัย ไอดีซี ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดเกมไร้สายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
โดยไม่นับรวมประเทศญี่ปุ่น จะมีอัตราการเติบโตสะสม (CAGR) สูงถึง 40% โดยมีมูลค่าเพิ่มจาก 237.4 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว
เป็น 1,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2551 โดยสาเหตุที่ทำให้เกมมือถือ
มีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากได้มีการพัฒนาความเร็วเครือข่ายไร้สายทั่วเอเชีย
ขณะที่โทรศัพท์จอสี ก็กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง "หลังจากที่ฟังก์ชันเสียงเรียกเข้า
และการดาวน์โหลดโลโก้ ประสบความสำเร็จสูงเป็นประวัติการณ์ในเอเชีย
บรรดาผู้ให้บริการเครือข่าย ต่างก็ตั้งใจที่จะผลักดันให้ธุรกิจเกมไร้สาย
ประสบความสำเร็จเช่นกัน" นางดาวินา โหยว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยตลาดไร้สายของไอดีซี กล่าว พร้อมเสริมว่า
แม้ว่าเกมมือถือ จะยังคงมีสัดส่วนในตลาดบริการนอน-วอยซ์น้อยมาก
แต่แนวโน้มที่ผู้บริโภคเอเชีย มักจะให้การต้อนรับบริการบันเทิงไร้สายทุกรูปแบบ ส่งผลให้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่
เชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดเกมไร้สายเช่นกัน
รายงานดังกล่าว บ่งชี้ด้วยว่า เกาหลีใต้ ถือเป็นตลาดเกมมือถือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
แปซิฟิก เนื่องจากมีการใช้งานเครือข่าย 3จี อย่างเต็มรูปแบบแล้ว
โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 73% ของรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรม ขณะที่จีน
ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 20.1% และออสเตรเลีย
ตามมาห่างๆ ในอันดับสาม ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.6% ส่วนประเทศไทย
อยู่ในอันดับที่สี่ ด้วยส่วนแบ่ง 2.1% ไอดีซี ยังคาดการณ์ว่า
ผลการจัดอันดับดังกล่าว จะไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 4 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ตลาดเกาหลี อาจมีส่วนแบ่งตลาดเกมในภูมิภาคลดลง เป็น 41.7% ภายในปี 2551 ขณะที่จีน จะไล่ตีตื้นขึ้นมา เป็น 40.3%
ขณะเดียวกัน นิตยสาร ฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิค
รีวิว ได้รายงานผลการสำรวจผู้บริหารเอเชียราว 1,901 คน ในประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์,
อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์
และไต้หวัน ซึ่งระบุว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริหารชาวเอเชีย ได้แก่โทรทัศน์จอแบน และกล้องดิจิทัล
ขณะที่มือถือ 3จี และเครื่องเล่นเอ็มพี3 ยังไม่สามารถครองใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ราว 1 ใน 3 กล่าวว่า ต้องการใช้ทีวีจอแบน รองลงมา ได้แก่ กล้องดิจิทัล
ซึ่งมีสัดส่วนราว 26% ขณะที่อุปกรณ์อย่างแล็บทอป และพีดีเอ ตามมาเป็นอันดับสาม
ด้วยสัดส่วน 25% และมือถือติดกล้อง เป็นอันดับสี่
ด้วยสัดส่วน 24%
นอกจากนี้ บรรดาผู้บริหาร ยังเปิดเผยว่า พวกเขานิยมซื้อสินค้าจากแบรนด์ชื่อดังมากกว่า
"ลูกค้าเหล่านี้ กล่าวว่า
ปัจจัยที่มีผลต่อการซื้ออุปกรณ์รุ่นใหม่ มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน
ได้แก่ ฟังก์ชัน, ราคา และยี่ห้อที่เชื่อถือได้
ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไป มักไม่ได้เลือกซื้อจากชื่อยี่ห้อ หรือดีไซน์" นูรี วิททาชิ ผู้เขียนรายงาน กล่าว
ขณะที่ผู้บริหารชาวฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังเป็นกลุ่มผู้ที่หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
เร็วที่สุด อาทิ การใช้บริการพาสเวิร์ดตัวเดียว, บัญชีรายชื่อ
ที่ซิงโครไนซ์กับอุปกรณ์ทุกตัวได้ รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจต่อเทคโนโลยีการเปลี่ยนโทรทัศน์ให้กลายเป็นศูนย์กลางการสื่อสารมากที่สุดด้วย
ตรงข้ามกับผู้บริหารชาวญี่ปุ่น และออสเตรเลีย กลับไม่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากนัก
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2547
|