ออโต้โมชั่น : เอฟทีเอ กับอุตฯรถยนต์
เวลานี้ใครๆ ก็พูดกันถึงเรื่อง เอฟทีเอ (FTA) หรือ
สนธิสัญญาเขตเศรษฐกิจเสรี ที่เมืองไทยลงนามกับหลายๆ ประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ พหุภาคี (Multilateral) เช่น AFTA
หรือว่าแบบที่เป็น ทวิภาคี หรือภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Bi-lateral
เช่น สนธิสัญญาที่เราทำกับ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน
ญี่ปุ่น
จากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการมองว่าเป็นหนึ่งในห้าอุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจหลักของประเทศ
แถมประเทศไทยยังได้รับการยอมรับจากประชาคมในภูมิภาคอีกว่า เป็นพระเอก ในแง่ของเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์
(จากการที่บริษัท
OEM ยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนกันเกือบครบถ้วน) หรือเรื่องความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของคนไทยก็ดี ทำให้มองกันว่าการมีสนธิสัญญาเขตเศรษฐกิจเสรี
กับประเทศต่างๆ หรือกลุ่มประเทศต่างๆ นั้น จะทำให้เราได้เปรียบเพราะว่าส่งรถยนต์ของเราออกไปขายยังต่างประเทศอย่างเต็มที่
แม้ว่าจะมีเสียงแสดงความไม่แน่ใจว่า สนธิสัญญาเหล่านี้จะให้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ก็ต้องบอกว่า แนวโน้มที่ผ่านมาและที่จะพัฒนาต่อไปนั้น เป็นบวกแน่ๆ เพียงแต่ว่าไม่ได้รวดเร็วและวูบวาบอย่างเต็มที่
ลองมาวิเคราะห์กันดูครับว่าทำไม?
เมื่อทุกคนนึกถึงคำว่า เอฟทีเอ
อาจจะไม่ได้นึกว่าเอฟทีเอนั้น คือสนธิสัญญาที่รัฐทำต่อรัฐ
หรือรัฐหนึ่งมีต่อรัฐภาคี ว่าด้วยเรื่องหลักการกันก่อนว่า
นับแต่นี้เราจะเปิดเสรีต่อกัน สินค้าสามารถนำเข้าส่งออกจากกันและกันได้โดยมีกำแพงภาษีต่ำลง
หรือว่ารูปแบบการกีดกันสินค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff barrier) นั้นจะน้อยลงไปเรื่อยๆ
แต่ประเด็นคือว่า ก่อนที่จะลงมือปฏิบัตินั้น จะต้องมีการทำ "โรดแมป" กันก่อนว่า ในบรรดาอุตสาหกรรมร้อยกว่าประเภทที่มีแนวโน้มที่จะค้าขายกันนั้น
มีรายละเอียดอะไรบ้าง สินค้าบางประเภทจะเริ่มต้นได้ทันที บางประเภทอาจต้องมีการลดภาษีนำเข้าทีละน้อยจนละลายกลายเป็นศูนย์
บางประเภทยังตกลงกันไม่ได้เลยว่า จะเริ่มต้นเปิดเสรีกันเมื่อไหร่
สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นั้น เป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่ไม่ได้รับการปฏิบัติปุ๊บปั๊บทันทีทันควัน
สาเหตุเพราะว่า รัฐภาคีของเอฟทีเอ(โดยเฉพาะที่ประเทศไทยมีเอี่ยวอยู่ด้วย)
นั้น ปกติไม่ค่อยจะเป็นเจ้าของแบรนด์ของตัวเอง ดังนั้น
เพื่อจะทำให้มั่นใจได้ว่า สินค้าที่จะได้อัตราภาษีแบบเปิดเสรีนั้น ต้องเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศคู่ค้านี้ด้วย
ดังนั้นคำที่เรียกว่า "ประเทศต้นกำเนิด" หรือ country of origin รวมถึงหลักเกณฑ์ว่าด้วย ประเทศแหล่งกำเนิดในแง่ของ
AFTA แล้ว เขาให้ถือว่ารถยนต์ที่ผลิตจากประเทศหนึ่งแล้วส่งออกไปยังประเทศอาฟตาประเทศอื่น
จะเรียกได้ว่าเป็น ASEAN Built Cars หรือ รถสัญชาติอาเซียน
ก็ต้องมี local content หรือองค์ประกอบที่มีต้นกำเนิดในอาเซียนไม่น้อยกว่า
40% ไม่งั้นไม่ถือว่าเข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากอาฟตา
ตรงนี้ต้องบอกว่า แม้ว่าจะทำให้ระยะเวลาเตรียมการส่งออกรถยนต์ไปภายใต้สนธิสัญญาเขตเศรษฐกิจเสรีนั้นยาวนานขึ้น (เพราะว่า OEMs
ต่างๆ ต้องใช้เวลาในการทำให้รถตนเองมี local content 40 %เป็นอย่างน้อย) แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะไม่เช่นนั้น ประเทศพวกเราๆ จะกลายเป็นท่าพักที่ให้พวก OEM ที่ไม่ได้พยายามเพิ่มเติมมูลค่าให้กับประเทศที่ตนเองมาตั้งรกรากทำมาหากิน ได้ใช้สิทธิพิเศษอันนี้ไปด้วย
นอกจากนี้ หากว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าด้วยประเทศต้นกำเนิด และการดูแลอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เพื่อย้ำให้มั่นใจว่ารถยนต์ที่ส่งออกนำเข้านี้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศผู้ผลิตและส่งออกภายใต้
FTA แล้วล่ะก็ คงจะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนก็ดี กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ของ OEM มายังหน่วยการผลิตในประเทศเราก็ดี
ต้องลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น แม้ว่ากระบวนการนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศเรา
ในฐานะ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มปริมาณการส่งออกได้อย่างรวดเร็ววูบวาบ
แต่ก็ทำให้พวกเราก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประเทศเราได้อย่างเต็มที่อีกด้วยครับ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2547
|