คลังเสนอตั้งกองทุนอาร์แอนด์ดีหมื่นล้าน
สมคิดจี้วางกรอบพัฒนาอุตฯ
เสร็จใน 1 เดือน
คลังเสนอเอกชนลงขันตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
(อาร์แอนด์ดี)
วงเงินหมื่นล้านบาท หนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมกับต่างชาติรองรับการเปิดเสรีการค้า
ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ยังไม่ดำเนินการในขณะนี้ เหตุต้องรอดูความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ
และฐานะการคลังก่อน พร้อมจี้สภาอุตฯ สรุปปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ภายใน 1 เดือน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ ( 31
พ.ค.) ดร.สมคิด
จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังได้มาพบกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ส.อ.ท.) เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะกรอบการหารือได้มุ่งประเด็นเรื่องการให้สิทธิด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา
(อาร์แอนด์ดี) ซึ่งเดิมระบุให้ธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายในการวิจัยและการพัฒนามาขอลดหย่อนภาษีได้
2 เท่า
แต่ในที่ประชุมมีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอาร์แอนด์ดีขึ้นมา โดยรูปแบบการจัดตั้งกองทุนจะให้ทุกธุรกิจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนและให้สามารถกู้เงินจากกองทุนเพื่อไปใช้พัฒนาได้
ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวจะทำให้ภาคธุรกิจมีเงินกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานับหมื่นล้านบาทซึ่งจะสร้างแรงจูงใจมากกว่าการขอลดหย่อนภาษี
"ขณะนี้รัฐบาลได้ร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรมลงรายละเอียดกันแต่ละเซคเตอร์
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมและเงื่อนไขทางภาษีก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้เรื่องอาร์แอนด์ดี ยังมีแนวคิดที่จะใช้เงื่อนไขทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจบนฐานความรู้ในกรณีที่มีการใช้เงินเพื่อลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหรือลงทุนเพื่อการฝึกอบรมพนักงาน
ภาครัฐจะให้สิทธิภาษีเป็นพิเศษ " ดร.สุวิทย์ กล่าว นอกจากนี้ยังวางกรอบการพิจารณาการใช้เงื่อนไขทางภาษีเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายธุรกิจในลักษณะคลัสเตอร์
ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดคลัสเตอร์ด้วยการรวมกลุ่มธุรกิจในพื้นที่เดียวกันอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.สมคิด กล่าวภายหลัง
การหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งนี้ว่า
เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อม
(เอสเอ็มอี) การทำวิจัย
การฝึกอบรมบุคลากร ด้านการศึกษา และด้านเครื่องจักรการผลิต โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
เพื่อให้ทางภาคเอกชนพิจารณาดูว่า มีอุปสรรคในเรื่องใด
ที่ต้องการให้ทางภาครัฐนำไปแก้ไข เพื่อจะได้ทำให้งานที่มีอุปสรรค
สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น สาเหตุที่จำเป็นต้องเร่งในเรื่องของการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมไทย
เนื่องจากเพื่อเป็นการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือกัน ทั้งด้านของภาคอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง
ในการที่จะเจรจาการค้าเสรี เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด "ในการหารือครั้งนี้ต้องการให้ ส.อ.ท. ไปพิจารณาว่า ถ้าต้องการให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้
มีอะไรบ้างที่จะต้องดำเนินการ และอะไรที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงคลัง ทาง กระทรวงการคลังจะรีบดำเนินนโยบายเพื่อผลักดันให้สามารถดำเนินการได้
โดยภายใน 1-2 เดือน ทาง ส.อ.ท.จะต้องส่งเรื่องมาให้กับ กระทรวงการคลัง พิจารณา และอะไรที่เกี่ยวกับกระทรวง
ก็จะผลักดันให้เข้า ครม." ดร.สมคิด
กล่าว
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า
แนวคิดในการที่จะดำเนินการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ต้องหารือร่วมกันทั้งสองฝ่าย
เช่น ในเรื่องของการทำวิจัย ทางภาคเอกชนต้องเสนอมาว่าทำวิจัยอะไร หากเป็นอุตสาหกรรม
เกี่ยวกับสิ่งทอ การวิจัยที่จะต้องทำร่วมกัน มีอะไรบ้าง จะให้รัฐบาลช่วย
และภาคเอกชนจะช่วยอะไร ซึ่งในที่ประชุมกรมสรรพากร ได้เสนอว่า
ถ้ากลุ่มอุตสาหกรรมใดทำวิจัยร่วมกันได้ ก็ควรมาดูว่าจะเอาเงินมาร่วมลงทุนเท่าไร
และ กระทรวงการคลังช่วยอย่างไรก็ขอให้บอก "จะไม่ทำงานแบบลอยๆ
จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อการทำงานของทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งขณะนี้ทางกรมสรรพากร มีมาตรการชุดหนึ่งแล้ว ขณะนี้ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคเอกชน
และจะนำมาพิจารณาร่วมกันทั้งสองฝ่าย" ดร.สมคิด กล่าว สำหรับการใช้นโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคล
จะดำเนินการหรือไม่นั้น ดร.สมคิด กล่าวว่า
เรื่องภาษีมีอยู่ในกระเป๋า แต่ยังไม่ทำ ต้องดูสถานการณ์โดยส่วนรวม คือ ภาวะเศรษฐกิจว่า
มีเสถียรภาพยั่งยืนหรือไม่ และฐานะการคลังเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ขอเร่งในเรื่องความสามารถในการแข่งขันก่อน
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ในฐานะประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรม ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 9 คณะทำงาน ซึ่งแบ่งตามโครงสร้างของสภาอุตสาหกรรม โดยแต่ละกลุ่มงานต้องไปศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภาษี เรื่องบุคลากร เรื่องงานวิจัยและเทคโนโลยี และสรุปเพื่อนำไปหารือกับอธิบดีของกระทรวงการคลังทั้ง
3 กรม เพื่อลงลึกในรายละเอียด โดยจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่
21 มิ.ย.นี้
โดยในส่วนของภาษีศุลกากร ที่ต้องแก้ไขและที่ค้างอยู่มีกว่า 100 รายการ ในส่วนของกรมสรรพากร อยู่ระหว่างการดำเนินการหารือ
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง กล่าวว่า
ภาษีเงินได้นิติบุคคล แนวโน้มลดลงอยู่แล้ว แต่การจะนำมาใช้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
เพระจะมีผลกระทบต่อฐานะการคลัง เนื่องจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคลลง 1%
จะมีผลต่อรายได้รัฐบาล 7-8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทางกรมฯ ได้มองแนวทางการปรับไว้หลายอัตรา ซึ่งอาจจะเป็น 28%
หรือ 25% "เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นเรื่องเล็ก
เพราะภาษีเป็นเพียงแค่ผลตอบแทน จากการลงทุน ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์
แล้วจะทำให้มีกำไรมากขึ้น แต่เราต้องผลักดันให้ภาคเอกชนทำในเรื่องอื่นด้วย เช่น เรื่องของการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
การพัฒนาคุณภาพบุคลากรด้านความปลอดภัย และด้านระบบขนส่ง
ในส่วนนี้ต้องผลักดันให้เอกชนทำไปพร้อมๆ กัน เพราะหากมีค่าใช้จ่ายลดลง
การทำงานมีประสิทธิภาพ ก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นเช่นกัน"
นายศุภรัตน์ ภควกุล อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า
ในที่ประชุมวานนี้ กรมสรรพากร ได้เสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการทำวิจัยกับทาง ส.อ.ท. โดยให้ ส.อ.ท.อาจจะตั้งเป็นสถาบันเฉพาะได้ เป็นกองทุน หรือเป็นลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรมมารวมกันทั้งหมด
แนวทางดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาวิจัย และพัฒนาบุคลากร
ที่น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวกับการทำวิจัย
หากมีการรวมกลุ่มกัน หรือตั้งเป็นสถาบันเฉพาะด้าน กรมสรรพากร ก็อาจจะให้สิทธิเกี่ยวกับเงินต้นในการดำเนินการ
และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร เป็นต้น "ที่ผ่านมา
การทำวิจัยของอุตฯ ส่วนใหญ่จะทำกันเอง ทำได้ผลหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่หากตั้งเป็นสถาบันเฉพาะด้านหรือเป็นกองทุน
จะทำให้มีพลังมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ ต้องออกรูปแบบองค์กรว่าจะดำเนินการอย่างไร
แล้วค่อยนำเอาเรื่องภาษีใส่เข้าไป"
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2547
|