ตัวเลขส่งออกลด 2% กลุ่มอุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้าเห็นพ้องตลาดปี'45 ผ่านวิกฤติ เดินหน้าลงทุนเครื่องปรับอากาศ - ชิ้นส่วน-หาตลาดใหม่ ทดแทนตลาดเก่ามีปัญหา
กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชี้ภาวะสงครามส่งผลกระทบระยะสั้น แจงตัวเลขส่งออกลดลงแค่ 2% ระบุแนวโน้มปี'45 ตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไปเริ่มกระเตื้องขึ้น โดยมีการลงทุนเพิ่ม แต่ขณะเดียวกันเร่งแสวงหาตลาดใหม่ ทดแทนตลาดเดิมที่มีปัญหา
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยภาพรวมของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และการก่อวินาศกรรมในอเมริกามากนัก รวมทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเชื่อว่าภาวะสงครามที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบแค่ระยะสั้น ขณะเดียวกันแนวโน้มในปี 2545 มีความเป็นไปได้ที่ตลาดดังกล่าวจะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ หากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ ตลาดทั้งระบบจะอยู่ในภาวะทรงตัว หรือใกล้เคียงกับปีนี้
ด้านนายอุดม ชาติยานนท์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกรรมการ บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเล็คทริค จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า "ซันโย" กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามไม่มากนัก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปทั่วโลก โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง ประกอบกับตลาดส่งออกในอเมริกา ก็มีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ส่วนผลกระทบเบื้องต้น ยอดสั่งซื้อลดลงประมาณ 2% ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกว่า 80% ของกลุ่มอุตฯนี้ต่างมีมุมมองในแง่บวก ว่าแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีหน้า น่าจะขยายตัวได้เมื่อเทียบกับในปีนี้ หรืออย่างต่ำที่สุดก็จะอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่อัตราการจ้างงานในปีหน้า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7% จากอัตราการจ้างงานในปัจจุบันมากกว่า 6-7 แสนคน (รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง) โดยที่จะมีการโยกย้ายฐานผลิตจากเกาหลีเข้ามาในเมืองไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบและมีปัจจัยที่จูงใจ ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน
ขณะที่นายธีระ ทองตัน กรรมการบริหารอาวุโส บริษัท ฮิตาชิ คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มในปีหน้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเริ่มดีขึ้น นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นต้นไป จากภาวะการฟื้นตัวของประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อมั่นว่าภาวะสงครามจะไม่ยืดเยื้อ และยุติได้ในเวลาไม่นานนัก
สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจเพื่อสร้างความอยู่รอด คือ การหาตลาดใหม่ เพื่อเสริมตลาดหลักที่มีอยู่แล้ว อย่างเอเชีย รวมถึงญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตลาดรัสเซีย ยูเครน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และประเทศใกล้เคียง ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถส่งออกสินค้าที่ไม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมากนัก เพื่อทดแทนตลาดในกลุ่มตะวันออกกลาง ที่มีปัญหาจากภาวะสงคราม ซึ่งตลาดชะลอตัวลง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2544
|