ย้อนอดีต 10 เหตุการณ์สำคัญส่งท้ายปี 46
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญๆ
ในแวดวงไอที-โทรคมนาคม เกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง ณ ที่นี้
ขอนำทุกท่านกลับคืน สู่เหตุการณ์น่าตื่นเต้น ในช่วงปี 2546
"มาย" "แฮปปี้ ดีพร้อมท์" นวัตกรรมจากดีเทค
ค่ายมือถือที่สร้างความฮือฮาตลอดปี
ย่อมหนีไม่พ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จากหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่คู่ซีอีโอประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งคือ
การสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเริ่มจากปลายเดือนเมษายน ดีแทคก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาด
ด้วยการเปิดตัวแพ็คเกจมาย (my) ซึ่งเป็นบริการในรูปแบบโพสต์เพด
ที่มีจุดขายสร้างความสะดวกให้ลูกค้าในการกำหนดค่าโทรแต่ละเดือน พร้อมลดค่าบริการแก่ลูกค้าที่มีปริมาณโทรจำนวนมาก
ส่งผลให้ลูกค้าบัตรเติมเงินย้ายเข้าสู่ระบบโพสต์เพดมากขึ้น หลังจากที่เติบโตแบบติดลบต่อเนื่องตลอดปี
2545 หลังจากแพ็คเกจมากมายเปิดตัวอย่างเป็นทางการเพียง 1 เดือน ดีแทค ก็รีแบรนด์ดิ้งบริการพรีเพดดีพร้อมท์ เป็น "แฮปปี้ ดีพร้อมท์" และทุ่มงบประมาณใส่แบรนด์ประมาณ
200 ล้านบาท หวังปั้นให้เป็นที่รู้จักผ่านสัญลักษณ์
"รอยยิ้ม" และให้ส่วนลดพิเศษในราคาครึ่งเดียวของอัตราปกติ
5 บาท ส่งผลให้ลูกค้าเข้าระบบถึง 3
ล้านรายใน 2 เดือนหลังเปิดตัว
ปรับเปลี่ยนโยกย้ายผู้บริหาร
อีกหนึ่งประเด็นร้อน ตลอดปี 2546 คือ
การลาออก โยกย้ายงานของผู้บริหารระดับสูงในแวดวงไอที และโทรคมนาคม เริ่มตั้งแต่
นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ที่ออกไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
ส่วนคอร์ปอเรท โซลูชั่น บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ, นายพีระพงษ์
เอื้อสุนทรวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
จำกัด ซึ่งลาออกไปปฏิบัติภารกิจเพื่อครอบครัว
และเลี้ยงปลาเงินปลาทอง นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี ที่หวนคืนวงการโทรคมนาคมในตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาค บริษัทโมโตโรล่า
อิงค์ และผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย)
จำกัด, นายสรรพัชญ โสภณ ผู้จัดการทั่วไป
บริษัท ซันไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ที่ลาออกไปเป็นกรรมการผู้จัดการของเอชพี ไทย ส่วนซัน จะได้กรรมการผู้จัดการคนใหม่แต่หน้าเก่าต้นปี
2547
ฮัทช์แจกเครื่องเพิ่มสีสัน
อีกสีสันหนึ่งของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ การแจกเครื่องอย่างมีเงื่อนไขการใช้งาน
ของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด
ซึ่งแม้จะมีผู้ประกอบการในธุรกิจไร้สายเคยใช้มาก่อน ทั้งการรับเครื่องพีซีที
หรือของทีเอ ออเร้นจ์ หากเป็นความเหมือนในหลักการ แต่แตกต่างในรายละเอียด
ด้วยเงื่อนไขการจดทะเบียนนาน 12 เดือน และกำหนดค่าบริการรายเดือนสูงพอครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ทั้งเครื่องยังไม่สามารถใช้งานกับระบบอื่น ที่เหมือนจะเป็นข้อด้อยก็กลับกลายเป็นส่วนให้ฮัทช์ไม่ต้องเจอปัญหานำเครื่องไปใช้กับระบบอื่นเช่นผู้ประกอบการอื่นเคยประสบ
คอมพ์ไอซีทีสั่นสะเทือนวงการ
เริ่มด้วยโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อคนไทย ที่ถือเป็นผลงานโดดเด่นซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ในรอบ 1 ปีนี้ ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้คนไทยมีคอมพิวเตอร์ใช้งานอย่างทั่วถึง
หวังจะลดช่องว่างดิจิทัล แล้วกระทรวงไอซีทีได้รับมาสานต่อแนวคิด
หมายกระจายคอมพิวเตอร์ให้ได้ 1 ล้านเครื่อง เริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
เลยไปถึงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และมีแนวโน้มจะขยายสู่คอมพิวเตอร์พกพา
หรือพีดีเอในปีต่อไป สร้างความคึกคักอย่างต่อเนื่องแก่แวดวงไอที
ไมโครซอฟท์ 1,490 บาท
ถูกสุดในโลก
ต่อมาถึงกลางเดือนมิถุนายน
หลังการประกาศโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีในเดือนพฤษภาคม บริษัทสาขายักษ์ซอฟต์แวร์อย่าง
ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้แถลงข่าวเป็นทางการสนับสนุนโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที
ด้วยการทำราคาระบบปฏิบัติการ (โอเอส) วินโดว์ส
เอ็กซ์พี โฮม ฉบับภาษาไทย และโปรแกรมสำนักงานออฟฟิศ เอ็กซ์พี สแตนดาร์ด
ฉบับภาษาไทย รวมกันที่ 1,490 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดกว่า 10 เท่า ซึ่งเป็นการทำราคาพิเศษครั้งแรกในโลกของไมโครซอฟท์ จากก่อนหน้านี้ที่ระบุเสมอว่า
ซอฟต์แวร์ของตนเป็นราคาเดียวทั่วโลก หากการตัดสินใจครั้งนี้ถือว่า "หลักแหลม" เพราะไมโครซอฟท์แทบจะไม่มีรายได้จากตลาด
"บ้าน" เลย
ราคานี้จึงทำให้เกิดรายได้ใหม่ที่เกาะติดไปกับโครงการรัฐ
คุมเข้มเกมออนไลน์
อีกมาตรการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที)
ที่สร้างผลสะเทือนในหมู่ผู้ให้บริการเกมออนไลน์
และนักเล่นเกมออนไลน์ ตลอดจนอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ นั่นคือ
การออกมาตรการคุมเข้มเกมออนไลน์ โดยทดลองปิดเซิร์ฟเวอร์ (เครื่องแม่ข่าย)
บล็อคเกมจากต่างประเทศหลัง 4 ทุ่ม ระหว่าง
15 ก.ค. - 30 ก.ย. 46 และหลังจากพ้นช่วงทดลอง ไอซีที หาวิธีรอมชอม และแก้ไขข้อบกพร่องโดยประกาศกฎอีกครั้ง
ผ่อนผันให้ผู้เล่นเกมอายุเกิน 18 ปี ไปลงทะเบียน ณ
ที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อจะเล่นเกมได้ไม่จำกัดเวลา
ทีเอ เปลี่ยนชื่อเป็น "ทรู"
ช็อกวงการ (ข่าว) อย่างสุดๆ
กับปฏิบัติการสายฟ้าแลบของบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ เมื่อเดือนสิงหาคม ด้วยการประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น
"ทรู คอร์ปอเรชั่น" และเตรียมใช้ชื่อใหม่นี้กับทุกสินค้า-บริการ รวมถึงเป็นชื่อนำหน้าของทุกบริษัทย่อยในกลุ่ม มีผลปี 47 เป็นต้นไป
"ศุภชัย" รีเทิร์นเก้าอี้ซีอีโอร่วม ออเร้นจ์
เพียงไม่นานหลังจากนั้น นายศุภชัย เจียรวนนท์
บอสใหญ่ของทีเอ ซึ่งเพิ่งปล่อยให้ผู้บริหารมืออาชีพอย่างนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ฉายเดี่ยวในตำแหน่งซีอีโอ
บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด เพียง 5 เดือน ก็ตัดสินใจกลับมานั่งให้กำลังใจอีกครั้งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม
(โค-ซีอีโอ) อีกครั้ง
เพื่อตอกย้ำแผนเชิงรุก ในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างทุกธุรกิจ
ภายใต้ชายคาทีเอ ที่กำลังเปลี่ยนเป็น "ทรู"
เพื่อผลสำเร็จในการทำธุรกิจ
ปลดฟ้าผ่าคุณหญิงทิพาวดี
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ในรอบปีนี้ มีเรื่องตื่นเต้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศปลดคุณหญิงทิพาวดี
เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงไอซีที จากตำแหน่งที่เคยพ่วง คือ ประธานกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้แก่ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น และบมจ. กสท โทรคมนาคม จาก น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการเมื่อต้นเดือน ต.ค. 46 โดยไม่ได้แจ้งให้คุณหญิงทิพาวดี
รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน โดยมีเหตุผลให้สานต่อโครงการ อี-กอฟเวิร์นเมนท์
ให้บรรลุเป้าหมาย
แจ๊คอำลาเอสวีโอเอ
เมื่อมาถึงปลายปี
ข่าวที่สร้างความตะลึงให้กับวงการ ก็คือ นายแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหาร
บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้มาตลอด
21 ปี เท่ากับอายุของบริษัท ได้ประกาศอำลาตำแหน่งเพื่อเข้าสู่แวดวงการเมือง
ด้วยการเป็นคณะที่ปรึกษาของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงสถานะผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของบริษัทแห่งนี้
เพื่อวางแผนกลยุทธ์ให้กับองค์กรเช่นที่ผ่านมา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม
2546
|