สศอ.เร่งรัฐ-เอกชนร่วมป้องกันอุตฯ อิเล็กฯ ย้ายหนีไปจีน, เวียดนาม
สศอ. ชี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เตรียมย้ายฐานการผลิตหนีไปจีน, เวียดนาม หลังสูญเสียความได้เปรียบด้านค่าแรง
เร่งเอกชนจับมือรัฐ ออกมาตรการป้องกันด่วน พร้อมยกระดับการผลิต ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล
หนุนชิงส่วนแบ่งตลาดจีน และรับมือมาตรการกีดการค้าจากประเทศคู่ค้า
นายดำริ สุโขธนัง
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในงานประชุมสัมมนากลุ่มย่อย
เรื่อง โอกาสของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในตลาดโลก ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น จีน และเวียดนาม มากขึ้น เนื่องจากมีความได้เปรียบการแข่งขันในด้านค่าแรงงานที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย จะมีทิศทางการขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่
3 และ 4 ของปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาจุดอ่อนของอุตสาหกรรมดังกล่าว
พบว่า การลงทุนต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ทำให้นักลงทุนไทยไม่มีเงินเพียงพอ รวมทั้งการลงทุนส่วนใหญ่เน้นรับจ้างประกอบเท่านั้น
ทำให้แรงงานไทยขาดการพัฒนาฝีมือ
"ภาคเอกชนและรัฐจำเป็นต้องร่วมมือกันหามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาการย้ายฐานการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รวมถึงปัญหาที่เกิดจากมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการกีดกันการค้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ที่ผู้ประกอบการประสบอยู่ในปัจจุบัน" นายดำริ กล่าว โดยเขามองว่า
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ยังมีจุดแข็งที่สามารถปรับกระบวนการผลิตใหม่ได้ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการลงทุน และการผลิตโดยไม่เกิดการเสียเปรียบ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบสำคัญ เช่น
เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกของสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น รวมถึงมีศูนย์ทดสอบสถาบันไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นองค์กรที่ไม่ค้ากำไร ทำให้การทำงานของศูนย์นี้น่าจะเป็นจุดที่น่าเชื่อถือได้จากสายตาทั้งในและนอกประเทศ
เผชิญมาตรการกีดกันสินค้า
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย
ยังมีปัญหาในด้านมาตรการกีดกันการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิต
เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทแม่ โดยพบว่าในระยะที่ผ่านมา
บริษัทเหล่านี้ต้องประสบกับการกีดการค้าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มิใช่ภาษี
เช่น การควบคุมการนำเข้า มาตรฐานสินค้า เป็นต้น ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยังเตรียมออกประกาศใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ในวันที่ 1 มกราคม 2549
ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน "เนื่องจากทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนที่สูงขึ้น
จากการใช้วัสดุทดแทนวัสดุต้องห้าม
การกำจัดชิ้นส่วนเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ต้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้
ดังนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งออกมาตรการมารองรับ" นายดำริ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2545
|