รายงาน : สมอ.เพิ่ม 7 มาตรฐานกันเครื่องไฟฟ้าจีนทะลัก
"สมอ."เร่งประกาศมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มอีก
7 รายการ ภายในเดือนมิ.ย. นี้ หลังสินค้าด้อยคุณภาพจากจีน ทะลักเข้ามาดั๊มพ์ตลาดในประเทศอย่างหนัก
เสียหายร่วมหมื่นล้านบาท พร้อมรุดตรวจเข้มด่านชายแดน
เตือนเอสเอ็มอีไทยปรับตัวรับมาตรฐานบังคับใหม่
การจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
ไทย-จีน โดยเริ่มต้นจากสินค้าผักและผลไม้ก่อน
และจะขยายไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม
ประกอบกับค่าจ้างแรงงานราคาถูกของจีน ทำให้จีนผลิตสินค้าในต้นทุนการผลิตต่ำ
ต้องหาทางระบายสินค้าสู่ต่างประเทศ ซึ่งตลาดไทยเป็น 1
ในเป้าหมายของจีน โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก ด้อยคุณภาพจากจีน
ที่ทะลักเข้าไทยมากขึ้น นำไปสู่ผลกระทบ ทั้งผู้ผลิตภายในประเทศ ตลอดจนผู้บริโภคของไทย
ที่ได้รับสินค้าด้อยมาตรฐาน
สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
ต้องเผชิญกับปัญหาการเข้ามาดั๊มพ์ราคาของสินค้าจากจีน ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วน
เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการปกป้องตลาด ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(สมอ.) กำลังเร่งออกประกาศมาตรฐานบังคับ
นายสุรชัย เถลิงโชค เลขาธิการสมอ. ระบุว่า
ในเดือน มิ.ย.นี้ สมอ.จะออกประกาศมาตรฐานบังคับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มอีก
7 ประเภท จากที่ใช้อยู่แล้ว 17 ประเภท
ประกอบด้วย
1.มาตรฐานบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ:ขีดสัญญาณรบกวนวิทยุหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มอก.1956-2542
2.สวิตช์ไฟฟ้า มอก.824-2531
3.มาตรพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับเฉพาะด้านความปลอดภัย
มอก.1030-2537 (มอเตอร์ไฟฟ้า)
4.หม้อหุงข้าวไฟฟ้า มอก.1039-2534
5.กระทะไฟฟ้าเฉพาะด้านความปลอดภัย มอก.1509-2541
6.มาตรฐานเครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า มอก.1693-2541 และ
7.เครื่องปรับอากาศ มอก.2134-2545
ขณะนี้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบหนักจากสินค้าด้อยคุณภาพ
แต่การออกมาตรฐานบังคับ สมอ.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
เพราะการประกาศมาตรฐานใดๆออกมา จะต้องบังคับใช้เป็นการทั่วไป หมายถึงผู้ผลิตไทยต้องพร้อมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ด้วย
ซึ่งปัญหาอยู่ที่ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม(เอสเอ็มอี) มีความพร้อมในการปรับตัวหรือไม่
ซึ่งกลุ่มนี้น่าวิตกว่าจะได้รับผลกระทบ สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากจีน
ที่เข้ามาตีตลาดในไทยจำนวนมาก มีทั้งสินค้าได้มาตรฐานและด้อยคุณภาพ เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหา
ภายใต้หลักการการค้าเสรี ทางสมอ.จึงต้องเร่งประกาศมาตรฐานบังคับเพิ่มมากขึ้น
เอฟทีเอที่ทำกับจีนในขณะนี้
ยังไม่ขยายไปครอบคลุมอุตสาหกรรม แต่สินค้ายังเข้ามาจำนวนมาก หากได้รับการลดภาษี 0%
น่าจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) มีความวิตกกังวลเช่นเดียวกัน โดยในปีที่ผ่านมา
ไทยนำเข้าสินค้าหมวดนี้จากจีนมูลค่าร่วม 75,000ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าถูกต้องซึ่งรวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ
5 หมื่นล้านบาท สมอ.กำหนดให้การประกาศมาตรฐานบังคับสินค้าอุตสาหกรรม
เพิ่มเติมเป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคคนไทย โดยของบประมาณสนับสนุนจากรัฐ
389 ล้านบาท เพื่อมอบให้สถาบันเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สร้างห้องทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ในด้านการควบคุมและตรวจสอบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
ทางสมอ.ไม่ได้ละเลย เช่นเดียวกัน โดยส่งทีมปฏิบัติการพิเศษ รุกตรวจสอบในจุดที่ล่อแหลม
โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้นำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านกระบวนการศุลกากร
เข้ามาจำหน่ายในประเทศ สมอ.ได้แจ้งความดำเนินคดี
กับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดกว่า 100
ราย ซึ่งจำนวนนี้เป็นการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด 27 ราย ที่เหลือ เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งบทลงโทษตามกฎหมายรุนแรง โดยมีโทษจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 1 แสนบาท กรณีร้านค้าปรับไม่เกิน 5,000 บาทจำคุกไม่เกิน
1 เดือน
ทางด้าน ผู้ประกอบการ ในสอท. โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ได้ออกมาเรียกร้องให้นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
เนื่องจากต้องสูญเสียตลาดในประเทศมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขอให้สมอ.เร่งออกมาตรฐานบังคับให้เร็วขึ้น ซึ่งจำนวนมาตรฐานสินค้าของจีนกับไทย แตกต่างกันมาก
โดยจีนกำหนดมาตรฐานเพื่อคุ้มครองในสินค้าถึง 132 รายการ ในยุคการค้าโลกไร้พรมแดน
ไร้กำแพงภาษี การแข่งขันต้นทุน ประสิทธิภาพการผลิต เป็นหัวใจสำคัญที่สุด
แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ มาตรการปกป้องตลาด หลังเปิดการค้าเสรี หากคู่ค้ามี
แต่ไทยไม่มี แน่นอนว่าการทะลักเข้ามาของสินค้าจากคู่ค้าย่อมเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะไม่มีมาตรการใดไปสกัดกั้นหรือยับยั้งไว้ได้
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากทำช้าเท่าใด ยิ่งเพิ่มความเสียเปรียบมากเท่านั้น
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2547
|