กลุ่มอุตฯไฟฟ้าโวยอียูตัด GSP เกณฑ์โหดเจอเต็มๆ 100 รายการ

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หนีไม่รอดถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ GSP ปีนี้กว่า 100 รายการ ครอบคลุมพิกัด 84 กับ 85 ทั้งวิทยุ-โทรทัศน์-วิดีโอ-หลอดไฟฟ้า-เครื่องจักรโดนหมด กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมฯดิ้น ยื่นเรื่องถึงกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ขอแสดงจุดยืนไทย แนะสหภาพไม่ควรตัดสิทธิพิเศษ GSP ในรายการที่ตัวเองไม่ได้ผลิตหรือผลิตน้อย รวมไปถึงขอให้ใช้พิกัด 6 หลักในการพิจารณาจะลดจำนวนรายการสินค้าที่ถูกตัดสิทธิได้มากกว่าใช้พิกัด 2 หลัก

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยกับ "ประชา ชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาออกประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (GSP) ในหมวดสินค้า 7 กลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมอยู่ในการพิจารณาด้วย โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้การตัดสิทธิพิเศษ GSP สินค้าในหมวดนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เงื่อนไขการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรป จะประกอบไปด้วย 1) พิจารณาจากเกณฑ์การนำเข้าที่เกินร้อยละ 25 ของสินค้ากลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 2) สินค้าในหมวดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีการตัดสิทธิพิเศษ GSP จะครอบคลุมพิกัดศุลกากรประเภท 84 กับ 85 ซึ่งครอบคลุมสินค้ากว่า 100 รายการ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า, เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องรับโทรทัศน์, เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง, เครื่องบันทึก, วิดีโอ มอนิเตอร์ เครื่องฉายวิดีโอ, เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ และ 3) มูลค่าการนำเข้าที่นำมาพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปี 2546 นี้จะคำนวณย้อนหลังจากปี 2540-2542

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการไทยได้มีการเคลื่อนไหวด้วยการประสานงานไปยังกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ดำเนินการเจรจาเพื่อยืดเวลาการตัดสิทธิพิเศษ GSP จากวันที่ 1 เมษายน 2546 ออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2547 เพื่อขอระยะเวลาปรับตัว นอกจาก นี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องการจะแสดงจุดยืนไปยังสหภาพยุโรปเกี่ยวกับปัญหาและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

โดยจุดยืนที่ได้แสดงเป็นข้อเสนอแนะไปยังสหภาพยุโรปที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP คือ 1) การตัดสิทธิพิเศษ GSP ควรพิจารณาเฉพาะสินค้าที่นำเข้าและส่งผลกระทบ กับอุตสาหกรรมการผลิตในสหภาพยุโรปเท่านั้น ตัวอย่างเช่น สินค้าหลอดภาพและโทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการผลิตน้อยและมีการนำเข้าจากประเทศตุรกีและกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้แทน แต่รายการสินค้าดังกล่าวกลับเป็นสินค้าที่ถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปีนี้
2) พิกัดสินค้าศุลกากร ควรระบุเป็นพิกัดย่อย 6 หลักเพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมสินค้าเฉพาะในรายการ สร้างผลกระทบต่อการผลิตภายในสหภาพยุโรป และ 3) มูลค่าของการนำเข้าที่นำมาพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP ควรนำข้อมูลปัจจุบันมาพิจารณามากกว่าที่จะใช้ข้อมูลในอดีต เพื่อจะได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด

"เงื่อนไขการตัดสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรปในพิกัดศุลกากร 84 กับ 85 ครอบคลุมกว่า 100 รายการสินค้า ซึ่งในความเป็นจริงน่าลงพิกัดในรายสินค้าที่กระทบต่ออุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป ไม่ใช่รวมกลุ่มใหญ่เพราะมีสินค้าที่ส่งออกเกินเกณฑ์การนำเข้าเพียง 30 กว่ารายการเท่านั้น และใน 30 รายการก็เชื่อมโยงกับเงื่อนไขภาษีขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ให้มีการลดภาษีการนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 ซึ่งถ้าหากเหมารวมหมดสินค้ารายการดังกล่าวก็จะต้องโดยหางเลขไปด้วย" นายมนตรีกล่าว สำหรับหมวดสินค้าที่สหภาพยุโรปได้มีการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมด 7 กลุ่ม ประกอบด้วย สินค้าเกษตร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประมง กับกลุ่มอาหารปรุงแต่ง ซึ่งถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ไปตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ และฝ่ายไทยได้ดำเนินการเรียกร้องขอให้คืนสิทธิพิเศษ GSP มาโดยตลอด

กับสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก/ยาง, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง กลุ่มรองเท้า, ดอกไม้ประดิษฐ์, กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับกลุ่มสินค้าอุต สาหกรรมช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2545 การส่งออกทั้ง 5 กลุ่มมีมูลค่า 3,483.87 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของการส่งออกในปี 2544 ตลอดทั้งปีคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2546 เนื่องจากอัตราภาษีตามปกติ (MFN Late) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มไม่สูงและมีสินค้าหลายรายการที่ภาษี MFN ลดลงเหลือร้อยละ 0 โดยเฉพาะรายการเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งมีภาษี MFN ร้อยละ 0

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.