รายงาน : หลังวูบหนัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฟื้นหรือยุบ >

ที่มา : ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ในช่วงที่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2543 และตลอดปี 2544 ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากวัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ช่วงขาลง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของ Worldwide Semiconductor Trade Statistics (WSTS) และ Daiwa Institute of Research (DIR) ในปี 2545 และ 2546 อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2545 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม ดังนั้น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีแนวโน้มดีขึ้นหลังผ่านไตรมาสที่ 2 ของปีไปแล้ว

 

ปัญหาที่แท้จริงของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย อยู่ที่การพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อย มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าจ้างแรงงาน และค่าไฟฟ้า ดังนั้น หากต้องการให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตในระยะยาว จำเป็นต้องมีโรงงานเวเฟอร์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในปัจจุบันไม่มีโรงงานเวเฟอร์ในประเทศไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้รับจ้างผลิต (Subcontractor) หรือบริษัทในเครือ (Subsidiary) ซึ่งทำหน้าที่ประกอบแผงวงจรไฟฟ้า และตรวจสอบวงจรเท่านั้น หากจะเข้าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องรู้โครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ

 

อุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย การออกแบบวงจรไฟฟ้า การผลิตและเจือสารแผ่นเวเฟอร์ หลังจากได้แผ่นเวเฟอร์ที่เจือสารแล้ว (ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้า รวมกันจำนวนมากตามแบบที่ได้วางไว้) อุตสาหกรรมกลางน้ำ จะทำหน้าที่ตัดแผ่นเวเฟอร์ และประกอบแผ่นเวเฟอร์ติดบนกรอบเขา (Lead Fame) และขั้นตอนอื่นๆ ที่ใช้แรงงานมาก จนได้แผงวงจรไฟฟ้า แล้วนำไปทดลองใช้งานก่อนส่งบรรจุต่อไป นับจากขั้นตอนการออกแบบ จนถึงการประกอบแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งหมดนี้จัดอยู่ในอุตสาหกรรมกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์ อินดัสตรี) ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากการประกอบแผงวงจรไฟฟ้า อุตสาหกรรมกลางน้ำหรืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังประกอบด้วย การผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board : PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เมื่อนำชิ้นส่วนทั้งหมดเข้ามาประกอบรวมกันตามที่ได้วางไว้ จะได้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ

 

โครงสร้างอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำที่สำคัญ โดยมีมูลค่าส่งออกเป็นลำดับที่สอง หรือสูงถึง 3,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2544 อุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นด้านการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องพึ่งความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากในขณะนี้ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก กำลังซบเซาอย่างหนัก ทำให้การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าลดลงมาถึงร้อยละ 21.7 ในปี 2544 จากมูลค่าการส่งออก 4,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2543 มาเป็น 3,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2544 นอกจากนี้ ตัวเลขมูลค่าการส่งออกในปี 2545 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 31.4 ส่วนแผ่นวงจรพิมพ์นั้นไม่ค่อยมุ่งเน้นการส่งออกมากเท่าแผงวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ มูลค่าการส่งออกแผ่นวงจรพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 38.2 ในปี 2544 และร้อยละ 46.5 ในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2545 ดังนั้น อนาคตของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นอย่างไร จะฟื้นตัวในเร็ววัน หรือจะฟุบตัวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง

 

ฟื้นหรือฟุบ : แนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคยเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปี 2542 ถึงต้นปี 2543 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความต้องการคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาวายทูเค นอกจากนี้ ในช่วงปี 2542-2543 เศรษฐกิจโลกขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้มูลค่าการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า และแผ่นวงจรพิมพ์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2543 และตลอดปี 2544 ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตามวัฏจักรของสินค้าหลังจากเกิด Semiconductor Bubble ในช่วงวิกฤติวายทูเค ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการเจริญเติบโตมีเพียงร้อยละ 2.5 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ยิ่งกว่านั้น ญี่ปุ่นซึ่งก็เป็นคู่ค้าสำคัญประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงร้อยละ 0.4 ทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ในไตรมาสแรกของปี 2545 การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า และแผ่นวงจรพิมพ์ ยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม World Semiconductor Trade Statistics (WSTS) คาดการณ์ยอดขายแผงวงจรไฟฟ้า (ไอซี) จะเพิ่มขึ้นในปี 2545 ถึงร้อยละ 3.7 หลังจากลดลงถึงร้อยละ 33.0 ในปี 2544 ในปี 2546 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนถึงร้อยละ 22.2 ซึ่งอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้าจะฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ Daiwa Institute of Research พยากรณ์ว่ายอดขายในอุตสาหกรรมกึ่งตัว น่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ -2 ถึงร้อยละ 2 ในปี 2545 และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะฟื้นตัวเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 และการฟื้นตัวจะชัดเจนขึ้นในเดือนตุลาคม 2545 เพราะฉะนั้น คาดการณ์ว่าการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า และแผ่นวงจรพิมพ์จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ หลังจากผ่านไตรมาสที่สองของปี

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.