เนคเทค คาดอีก 5 ปี ก.ม.ธุรกรรมอิเล็กฯ สร้างผลกระทบ
เนคเทค คาดอีก 5 ปี พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
จะสร้างผลกระทบวงกว้าง พร้อมเร่งร่างกรอบ พ.ร.ฎ.รอฝ่ายการเมืองเดินเรื่อง ตั้งคณะกรรมการ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นางสาวสุรางคณา แก้วจำนงค์
หัวหน้าโครงการกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค)
กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการคัดสรรคณะกรรมการสรรหา
"คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์" เนื่องจากอยู่ในขั้นของฝ่ายการเมืองจะดำเนินการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้มีการร่างกรอบแนวทางของพระราชกฤษฎีกา
(พ.ร.ฎ.) ที่ต้องออกมารับตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ใน 3 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา
3 พ.ร.ฎ.ธุรกรรมที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 25 วิธีการแบบปลอดภัย ระบุรายละเอียดการเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ระบบรักษาความปลอดภัย หรือคอมพิวเตอร์ ซิเคียวริตี้ ฯลฯ รวมถึงมาตรา 35 ธุรกรรมภาครัฐ กำหนดแนวทางกว้างๆ หลักเกณฑ์การทำธุรกรรมภาครัฐ ว่าหน่วยงานจะต้องทำอย่างไรบ้าง
โดยมีกลไกเปิดกว้างที่ช่วยให้หน่วยงานระดับกรม ที่อาจมีวิธีการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แตกต่างจากหน่วยงานระดับกระทรวงได้
หรือรองรับการให้บริการที่แตกต่างระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงเดียวกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 3 เมษายนที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีคดีพิพาทใดที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม โดยมองว่าสำหรับประเทศไทยแล้วในอีก
5 ปีข้างหน้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงจะมีบทบาทเด่นชัด เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว
น่าจะมีการฟ้องร้อง หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ตามจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้แก่
สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐ ซึ่งมีกฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ บังคับใช้แล้ว
แต่การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว ยังไม่แพร่หลายนัก ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและความคุ้นเคย
รวมถึงความเชื่อมั่นการใช้งานจากผู้บริโภค นางสาวสุรางคณา กล่าวว่า ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยมีวิธีการใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบรักษาความปลอดภัย เช่น
การพิมพ์ลายน้ำบนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น แนวทางการออก พ.ร.ฎ.เป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นของกฎหมายสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ส่วนของการควบคุมโดยคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้น จะเป็นการกำหนดผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผลกับความมั่นคงทางการเมือง
และเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate
Authority : CA) โดยในต่างประเทศเริ่มมีธุรกิจให้บริการใหม่ๆ
มาเพิ่มเติมแล้วในอเมริกาและยุโรป ซึ่งหากมีให้บริการในไทยก็เข้าข่ายด้วย เช่น
ผู้ให้บริการพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ (Evidence Service Provider : ESP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเฉพาะการนำสืบพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาล
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2545
|