รัฐบาลเดินหน้าลุยแผน "อีกัฟเวิร์นเมนต์" ทศทฯเฮรับเหมา "คอลเซ็นเตอร์" ภาครัฐ
รัฐบาลดันแผนปฏิบัติการ
"อีกัฟเวิร์นเมนต์" เข้า ครม.ในอีก 2 สัปดาห์
สั่งทุกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลเข้าไปที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ฝันหรู 6 ปีศักยภาพไอทีประเทศไทยอยู่ระดับแนวหน้า ด้าน ทศทฯส้มหล่นรับเหมาทำระบบคอลเซ็นเตอร์กลางของภาครัฐให้บริการประชาชนทั้งประเทศ
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่างแนวทางการดำเนินการโครงการอีกัฟเวิร์นเมนต์
ว่าให้ทุกหน่วยงานราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไปจะต้องมีเว็บไซต์เพื่อให้บริการประชาชนได้ภายในสิ้นปี
2546 เพื่อเป็นรากฐานการให้บริการประชาชนสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้หน่วยงานระดับกรมที่มีการกระจายการทำงานสู่ภูมิภาคจะต้องมีระบบอินทราเน็ตเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้
รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ "พีเอ็มโอซี" (PMOC : prime minister operation center) เพื่อนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวางแผนบริหารยุทธศาสตร์ของประเทศได้อย่างถูกต้อง
เมื่อเริ่มกระบวนการอีกัฟเวิร์นเมนต์อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องรวดเร็วจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับระดับโลกได้
หากทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างจริงจังตามแผนงานภายใน 6 ปี คาดว่าไทยจะมีศักยภาพในระดับแนวหน้าของโลก
เพราะมีความมั่นคงของประเทศเนื่องจากมีการบริหารจัดการและนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนเชิงกลยุทธ์ได้
การก้าวสู่อีกัฟเวิร์นเมนต์ที่ดีจะต้องมีการบริหารจัดการองค์กรที่ดีด้วย ซึ่งผู้บริหารองค์กรต้องเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น
ไม่เช่นนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัทดอตคอมมุ่งแต่เรื่องเทคโนโลยีแต่ไม่มีข้อมูลที่ดีเพื่อนำมาวิเคราะห์ได้จึงทำให้ต้องล้มกิจการไป
ด้าน น.พ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวเสริมว่า โครงการอีกัฟเวิร์นเมนต์เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบริการสำหรับประชาชนและความมั่นคงของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
รวมทั้งการสร้างความปลอด ภัยของข้อมูลซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่การเป็นอีไทยแลนด์
และสามารถแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านอีกัฟเวิร์นเมนต์และอีโซไซตี้ที่สมบูรณ์แบบ
ภารกิจหลักของกระทรวง คือ เป็นเจ้าภาพประสานงานให้ทุกหน่วยงานรัฐเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้
ซึ่งเรื่องใหญ่ขณะนี้คือการสร้าง back office ของแต่ละแห่งขึ้นมารองรับการทำงาน
ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ในงานบางประเภทอาจเอาต์ ซอร์ซให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้ "เป้าหมายเร่งด่วนโครงการอีกัฟเวิร์นเมนต์ที่จะต้องแล้วเสร็จภายใน
30 กันยายนนี้ ประกอบด้วย การใช้ระบบสมาร์ตการ์ดเพื่อขอรับบริการจากหน่วยงานรัฐ
และทุกกระทรวงต้องมีบริการคอลเซ็นเตอร์ให้บริการประชาชน รวมถึงการเชื่อมข้อมูลเบื้องต้นระดับกรม,
กระทรวงต่อไปยังพีเอ็มโอซีของรัฐบาลได้"
น.พ.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า
ที่ประชุมยังอนุมัติเห็นชอบในหลักการโครงการ "อีกัฟเวิร์นเมนต์"
15 ประเด็นหลัก โดยเตรียมเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอีก 2 สัปดาห์
โดยขณะนี้มีหน่วยงานรัฐให้บริการนำร่องด้านอีเซอร์วิสแล้ว 2-3 แห่ง อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงไอซีที, กระทรวงพลังงาน รวมทั้งโครงการไอซีทีซิตี้ในจังหวัดภูเก็ต, เชียงใหม่ และขอนแก่น
ทั้งนี้ 1 ใน 15
เป้าหมายสำคัญ คือ บริการคอลเซ็นเตอร์กลางของหน่วยงานรัฐ โดยได้มอบหมายให้บริษัท
ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการกับประชาชนแทนทุกหน่วยงาน
โดยมีศูนย์กลางที่ ทศทฯ สำนักงานใหญ่ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะส่งเสริม ทศทฯขยายธุรกิจและหารายได้จากบริการคอลเซ็นเตอร์ในอนาคตได้
โดยที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม หรือกรณีที่บริการมีมากขึ้น สามารถเอาต์ซอร์ซให้กับเอกชนที่มีบริการคอลเซ็นเตอร์ได้เช่นกัน
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2546
|