อี-กอฟเวิร์นเม้นท์ดันอุตสาหกรรมไอซีทีปี46
มือถือ-คอมพ์-อินเทอร์เน็ต
ล้วนเป็นธุรกิจเด่นปีหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย-เอกชน เชื่ออี-กอฟเวิร์นเม้นท์ เป็นปัจจัยหลักดันอุตสาหกรรมไอซีทีไทยเติบโตต่อเนื่องปี 2546 แม้กระแสโลกซบ รายงานข่าวจากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จัดอันดับให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่,
คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องในปี
2546 จากปัจจัยสนับสนุนของตลาด
รวมถึงปริมาณผู้ใช้ที่มีศักยภาพขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่ายอดผู้ใช้จะเพิ่มจาก
18.5 ล้านราย หรือ 30% ของประชากรทั้งประเทศเป็น 24 ล้านราย หรือ 38% ของประชากร อย่างไรก็ตาม การขยายตัวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการต่างจังหวัด
และเป็นตลาดของบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ถึง
70% ส่วนตลาดโพสต์เพด จะมีราว 30% ขณะเดียวกันตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปีหน้า
จะแบ่งตลาดออกจากกันค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ 1. ตลาดผู้ให้บริการเลขหมาย
จากผู้ให้บริการ 6 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ดีพีซี ทีเอ
ออเร้นจ์ ทศท และ กสท และบริการเสริมจะมีบทบาทสำคัญต่อการหารายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น
โดยคาดจะมีสัดส่วน 60% ของรายได้รวม 2. ตลาดตัวเครื่องลูกข่าย จะมีผู้จำหน่ายเครื่องรายย่อย และผู้นำเข้าเครื่องลูกข่ายโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
และมีแนวโน้มของตลาดเติบโตขึ้นสูงกว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่เปิดใช้งานในปีนี้ ซึ่งปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเครื่องลูกข่าย
โดยมีประมาณการว่า ยอดจำหน่ายเครื่องลูกข่ายปีหน้าจะสูงถึง 10 ล้านเครื่อง แบ่งเป็น 6.5
ล้านเครื่องจากผู้ใช้บริการรายใหม่ และ 3.5 ล้านเครื่องจากตลาดเครื่องทดแทน
ธุรกิจคอมพ์ขยายตัว
ด้านตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์
ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่ม 15-20%
โดยเป็นยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ราว 760,000
เครื่อง สวนทางกับภาวะการจำหน่ายในตลาดโลก ซึ่งปรับตัวลง 4%
ในปีนี้ โดยยอดจำหน่ายพีซีจะเพิ่มขึ้น 15%
แบ่งเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะโต 7% หรือเพิ่มเป็น 642,000 เครื่อง โน้ตบุ๊ค จะมียอด 165,000 เครื่อง
หรือขยายตัว 65% ขณะเครื่องพีดีเอ เพิ่มขึ้น 10% หรือมียอดจำหน่าย 66,000 เครื่อง
งบรัฐหนุนยอดขายคอมพ์
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าตลาดโน้ตบุ๊ค จะโตขึ้น
65% ขณะตลาดเครื่องตั้งโต๊ะ แม้จะขยายตัวเพิ่มไม่มากนัก
แต่ยังมีปริมาณการจำหน่ายสูง ทั้งในตลาดคอนซูเมอร์และตลาดองค์กร เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
ได้แก่ การขยายตัวของงบประมาณการใช้จ่ายไอทีของภาครัฐกว่า 10,000 ล้านบาท ตามแผนพัฒนาโครงการอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ รวมทั้ง
โครงการอินเทอร์เน็ตตำบล ของกระทรวงมหาดไทย และโครงการเช่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรุงเทพมหานคร
(กทม.) มูลค่ากว่า 750 ล้านบาท
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัว
ทั้งยังประมาณว่าปีหน้ายอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย
จะเติบโตจาก 4.5 ล้านคนเป็น 5.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าบริการที่ลดลง
การใช้งานในองค์กรธุรกิจเพิ่มขึ้น และโครงการอี-กอฟเวิร์นเม้นท์
อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันของตลาดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการยังอยู่ในอัตราส่วนน้อย
เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ และการขยายตัวอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ทำให้ไอเอสพีทั้ง
18 รายต่างใช้กลยุทธ์ราคามาชิงฐานลูกค้า รวมทั้ง การเพิ่มมูลค่าของการให้บริการด้วยบริการเสริมอื่นๆ
เช่น บริการศูนย์ข้อมูล บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ บริการรับฝากข้อมูล
หรือออกแบบตกแต่งเวบไซต์ เป็นต้น
เอทีซีไอ ชี้ได้แรงหนุนภาครัฐ
ด้านนายจำรัส สว่างสมุทร เลขาธิการ
สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า
คาดคอมพิวเตอร์ไทยปีหน้าจะโตขึ้น 12% จากปัจจัยหลักนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดผลกระทบในภาคธุรกิจต่อเนื่องจากการใช้จ่ายในภาครัฐ
เป็น 2 เท่า
โดยเฉพาะกรอบนโยบายไอซีทีของไทยทั้ง 5 ด้าน ล้วนทำให้ภายในหน่วยงานรัฐเองต้องลงทุนจัดซื้อคอมพิวเตอร์เพิ่ม
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาวะความไม่แน่นอนของสงคราม
และเทคโนโลยีที่ไม่หวือหวา ส่งผลผู้บริโภคไม่ต้องการอัพเกรดเทคโนโลยีใหม่ เป็นปัจจัยลบทำให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร
ทั้งนี้ยังเชื่อว่า
ประมาณการจำนวนพีซีในตลาดรวมที่เคยคาดการณ์ไว้ต้นปี จะเป็นไปตามเป้า 688,300 เครื่อง
ในมูลค่า 64,965 ล้านบาท ด้านนายณรงค์ อิงค์ธเนศ
ประธานบริหาร บริษัทเดอะแวลลูซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า ปีหน้า
คาดว่าตลาดคอมพิวเตอร์คงไม่เติบโตหวือหวานัก หรืออาจสูงสุดเพียง 10% เนื่องจากความผันผวนของสงครามจะกระทบความมั่นใจใช้จ่ายของคอนซูเมอร์ ที่เป็นกำลังซื้อหลักในตลาด
สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่เป็นภาครัฐ
โดยเฉพาะนโยบายอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ ภาคการศึกษา
ที่ผู้ปกครองก็จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บุตรหลาน โดยมองว่าการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้สามารถแข่งขันได้
ไอเอสพีมองตลาดโต 30%
นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท
อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทปีหน้าจะยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องถึง
30% จากปีนี้ เนื่องจากได้รับผลบวกจากการปฏิรูประบบราชการ และมีการสร้างระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยต่างก็เป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัท พร้อมกันนี้เขากล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจอินเทอร์เน็ตในอีก
5 ปีข้างหน้าว่า ยังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่ผู้ประกอบการที่จะอยู่ในธุรกิจได้ด้วยความแข็งแกร่งและมีกำไร จะต้องมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย
ด้านนายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซี.เอส.คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ผู้ให้บริการ "ซี.เอส. อินเทอร์เน็ต" คาดการณ์ว่า
ในปีหน้าจะมีการเติบโตของฐานลูกค้าในตลาดประมาณ 20-30% แต่เชื่อว่าสถานการณ์รายได้จะเติบโตประมาณ
15-20% เท่านั้น อันเป็นผลมาจากการปรับราคาลง สำหรับในปีหน้าเชื่อว่า
กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นองค์กรธุรกิจจะเติบโต 30% ซึ่งรายได้หลักจากกลุ่มนี้จะมาจากกลุ่มลูกค้าองค์กรเอกชน
โดยเฉพาะตลาดของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนในหลักประมาณหมื่นบาทเศษ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม
2545
|