ศธ.ตั้งเป้า นร.70% ได้ใช้พีซีในปี 47
ศธ.เตรียมนำไอที
เสริมระบบการศึกษา ตั้งเป้านักเรียน 70% ทั่วประเทศสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ในปี
47 เดินหน้ากลยุทธ์ ขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่า ให้โรงเรียน
หวังยกระดับการศึกษา เทียบชั้น สิงคโปร์และมาเลเซีย
นายกล้า
สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงมีแผนนำเทคโนโลยีสารเทศ
หรือไอทีเข้าเสริมระบบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บท
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2545-2549
ซึ่งครอบคลุมภารกิจของ ศธ.เกี่ยวข้องกับ อี-เอดูเคชั่น, อี-โซไซตี้ และอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ โดยวางกรอบการทำงานไว้ 3 เรื่อง
ได้แก่ 1.การนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในการศึกษาทุกวิชา
เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ค้นหาข้อมูล และจัดทำรายงาน
โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนทั่วประเทศจำนวน 15-20 ล้านคน หรือ
ประมาณ 70% สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ในปี 2547 2.กำหนดแผนการฝึกอบรมครูทั่วประเทศจำนวน 500,000 คน ให้มีทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
โดยมีครูที่ผ่านการฝึกอบรมประมาณ 300,000 คน
พร้อมกับดำเนินการฝึกอบรมเพิ่มเติมประมาณ 100,000 คน และครูที่ยังไม่เคยผ่านการอบรม
200,000 คน และ 3.จัดทำโครงสร้างพื้นฐาน
เชื่อมโยงโครงข่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นงานหลักที่จะต้องกระจายให้ไปถึงทุกโรงเรียนทั่วประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายดำเนินการโครงข่ายในโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน
3,000 แห่ง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา (EdNet) ที่ร่วมกับเครือข่ายทบวงมหาวิทยาลัย ให้แล้วเสร็จในปีหน้า
นายกล้า
กล่าวว่า หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผนข้างต้น จะสนับสนุนการกระจายโอกาสการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
(พีซี)
ให้อยู่ในสัดส่วน 1 เครื่อง ต่อ 20 คน สำหรับระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา และ 1
เครื่องต่อ 40 คน สำหรับระดับประถมศึกษา
หรือยกระดับการศึกษาไทย เทียบเท่าประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ศธ. ยังใช้กลยุทธ์การขอรับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว
จากกองค์กรธุรกิจที่ยกเลิกการใช้งาน เมื่อใช้เครื่องมาแล้วประมาณ 3-5 ปี ซึ่งเครื่องเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอ สำหรับนำมาใช้ในการศึกษา โดยที่ผ่านมาเริ่มทดลองจากจังหวัดจันทบุรีแล้ว
จำนวน 15 เครื่อง ส่วนงานด้านซอฟต์แวร์การศึกษา
จะเน้นให้ครูผู้สอนพัฒนาซอฟต์แวร์ตามรายวิชา เนื่องจากที่ผ่านมา
การจัดซื้อไม่ค่อยตรงกับความต้องการของผู้สอน รวมทั้งมีการจ้างเอกชนพัฒนา
และจัดซื้อในบางวิชาที่คุณภาพดี เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545
|