ร่างแผนโพรโมตข้อมูล อี-คอมเมิร์ซปลอดภัย เสร็จแล้วเตรียมสัมมนา
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค)
กล่าวว่า ปัจจุบันคณะอนุกรรมการความมั่นคง
ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้จัดทำโรดแมพเพื่อโพรโมตเรื่องความปลอดภัยข้อมูลในไทยเสร็จแล้ว
ซึ่งโรดแมพนี้ จะเกี่ยวข้อง กับการจัดการ ความมั่นคง ของระบบไอทีที่ใช้ในอี-คอมเมิร์ซใหญ่ๆ เช่น จีทูบี, บีทูบี ก่อน
โดยต้องจัดสัมมนา รวมถึงวิธีการทดสอบให้ได้ โดยมีกำหนดประชุม คณะกรรมการธุรกรรม
ทางอิเล็กทรอนิกส์ เดือนสิงหาคม นี้ รวมทั้งโพรโมตธุรกิจเสริมระบบความปลอดภัยข้อมูล
เช่น ไฟร์วอลล์, การอบรมความปลอดภัย
สำหรับความปลอดภัยด้านไวรัสคอมพิวเตอร์นั้น สถานการณ์ปัจจุบันยังน่าเป็นห่วง
เนื่องจาก แม้จะลบไวรัส หรือขจัดไวรัสในเครื่องไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถขจัดได้หมด ไวรัสอาจยังคงฝังตัวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์นั้นๆ
และรอวันปะทุขึ้นมาอีก ทั้งนี้
สิ่งที่ควรปฏิบัติที่จะขจัดไวรัสอย่างถอนรากถอนโคนในเครื่องที่เคยติดไวรัสมาก่อน
คือ ติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ ลงโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ทันสมัย
เพื่อช่วยกรองไวรัสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้น ค่อยๆ ลงโปรแกรมใช้งานใหม่ๆ
จึงจะสามารถปราบไวรัสได้
นอกจากนั้น
องค์กรธุรกิจจะต้องใส่ใจต่อไวรัสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ
มักใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ฉะนั้น เมื่อไมโครซอฟท์ ปรับปรุงซอฟต์แวร์แพด
เพื่ออุดช่องโหว่ของโปรแกรมก่อนหน้านี้ แล้วประกาศให้ผู้ใช้เข้าไปดาวน์โหลด
ควรรีบกระทำทันที ไม่ใช่ปล่อยเวลาไว้ 2-3 วัน เพราะจะกลายเป็นช่องว่างให้ไวรัสใหม่ๆ
เข้าสู่ระบบได้ ดังนั้น ทุกองค์กรควรจัดทีมเฝ้าระวังไวรัสอย่างจริงจัง
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต่างๆ มักไม่ค่อยให้ความใส่ใจต่อเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสคอมพิวเตอร์นัก
จึงทำให้เกิดปัญหาต่อระบบคอมพิวเตอร์องค์กร ซึ่งหากองค์กรไม่มีผู้ตรวจจับไวรัส ก็ควรว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการให้
เพื่อความปลอดภัย
"บริการดักไวรัส หรือเมล คลีนเนอร์
นี้ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) มีให้บริการ แต่ดำเนินการให้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเท่านั้น ในภาคเอกชนต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนอื่นๆ
ดำเนินการให้ ซึ่งเท่าที่ทราบมีบริษัทเล็กๆ บางรายกำลังจะเปลี่ยนมาให้บริการดังกล่าว"
นายทวีศักดิ์ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2547
|