กรมการปกครอง ฝัน ปี 46 ดันไทยสู่ยุค "อี-ซิติเซน" เต็มตัว
ตั้ง 10 คณะอนุกรรมการ จัดการประสานงาน
เชื่อมระบบรัฐมูลรัฐเข้าถึงกัน
สำนักบริหารการทะเบียน ขอเวลา 6 ปี
ดันโครงการอี-ซิติเซน เป็นรูปธรรม มั่นใจความพร้อมเลขประจำตัวประชาชน
รวมถึงฐานทะเบียนราษฎรที่มี หนุนต่อยอดบริการประชาชนได้เต็มรูปแบบ
ทั้งเร่งรวมระบบงานภาครัฐเข้าหาถึงกัน เพื่อปรับสู่บริการ ณ จุดเดียว
โดยประชาชนไม่ต้องถือบัตร แต่จำเลข 13 หลักได้ ก็สามารถรับบริการจากรัฐได้
นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวภายหลังการอภิปรายหัวข้อ
"คนไทยกับไอที รัฐบาลนี้กำลังทำอะไร" ที่จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี)
วานนี้ ( 26 มิ.ย.)
ว่า มีเป้าหมายดำเนินงานโครงการอี-ซิติเซน
ซึ่งจะเป็นบริการประชาชนด้านอิเล็กทรอนิกส์ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปีข้างหน้า
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่
7 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการ
และปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติขึ้น แทนคณะกรรมการจัดทำเลขประจำตัวประชาชน ทั้งนี้
การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อขยายการให้บริการด้านการทะเบียน และบัตรแก่ประชาชน
ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้กว้างขวาง และทั่วถึงขึ้น โดยต้องแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์จากข้อมูลพื้นฐานร่วมกัน
ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งให้มีประโยชน์ในการวางแผนกำหนดนโยบาย และแผนงานเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูลการทะเบียน
ของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน และประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับคณะกรรมการดังกล่าว
มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อธิบดีกรมการปกครองเป็นเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
รวมทั้งจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 10 คณะ
เพื่อมาดำเนินการด้านต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการด้านการร่างนโยบาย
และกลั่นกรองโครงการ คณะอนุกรรมการด้านการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูล
คณะอนุกรรมการด้านการปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบ คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการใช้ข้อมูลการทะเบียน
และคุ้มครองการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น
ของบ 800 ล้านหนุน
สำหรับการดำเนินการระบบอิเล็กทรอนิกส์
จะต้องรวบรวมฐานข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร
ฐานข้อมูลประกันสังคม ฐานข้อมูลขนส่ง ฐานข้อมูล ส.ด.9 และหนังสือเดินทาง
เป็นต้น เพื่อให้มีฐานข้อมูลกลางให้บริการประชาชน ณ จุดเดียว ไม่มีวันหยุดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่ว่าประชาชนจะอยู่ที่ไหนในประเทศ จะขอรับบริการ ณ
จุดบริการทั่วประเทศได้ อย่างไรก็ตาม การทำอี-ซิติเซนให้เกิดได้
ต้องทำระบบพื้นฐานคือ ระบบข้อมูลทะเบียนราษฎร
และบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จ โดยให้บริการยังสำนักงานบริการ
ที่สามารถให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบ 1,077 แห่ง
ทั่วประเทศ ซึ่งต้องขยายบริการเพิ่มอีก 572 แห่ง
จากที่มีอยู่ปัจจุบัน 505 แห่งแล้ว ทั้งนี้
คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการรวมกันราว 800 ล้านบาทเศษ ซึ่งงบจำนวนดังกล่าวจะแบ่งเป็นการจัดการระบบทะเบียนราษฎร
600 ล้านบาท และที่เหลือเป็นข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน โดยหากทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรแล้วเสร็จ
ผลสุดท้ายแล้วแม้ประชาชนไม่ถือบัตรประจำตัวใดๆ เลย ก็จะสามารถรับบริการของสำนักบริการทุกแห่งได้
เพียงใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเท่านั้น
ขณะที่ ด้านการดำเนินโครงการอี-ซิติเซน
จะต้องมีขั้นตอนต่อไปนี้ คือ รอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในรายละเอียดอีก 1 รอบ จากก่อนหน้านี้ได้อนุมัติหลักการไปแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นต้องเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติงบ
หาราคากลางเพื่อจัดหาระบบติดตั้งและส่งมอบ นอกจากนี้ สำนักบริหารการทะเบียน ยังมีแผนจะเปิดให้ใช้บริการระบบความปลอดภัยแบบกุญแจคู่
(พีเคไอ) เพื่อประโยชน์ในการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอี-เมล์ ซึ่งจะใช้ยืนยันตัวตน และความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งระหว่างกันได้
โดยสำนักบริหารการทะเบียน ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้รับรอง (ซีเอ)
ภายใน 2 เดือนข้างหน้า
ก.ค.ส่งแผนแม่บทไอซีทีเข้า
ครม.
นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ
(เอ็นไอทีซี)
กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนา "ตรวจการบ้าน
1 ปี นโยบายไอทีรัฐบาลทักษิณ" วันเดียวกันว่า
ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ คาดว่า
จะนำแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร พ.ศ.2545
- 2549 เข้าเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติและประกาศใช้ต่อไป
โดยระหว่างนี้ จะใช้เวลาวิเคราะห์สวอต (SWOT) เพื่อให้แล้วเสร็จ
เพื่อนำไปวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ก่อนจัดทำแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์ และหลังจากประกาศใช้แผนแม่บทแล้ว
จะดำเนินการนโยบายอิเล็กทรอนิกส์ 5 ด้านต่อไป ทั้งนี้นโยบายอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง
5 ด้าน จะมีผู้รับผิดชอบแตกต่างกันไป ประกอบด้วย อี-กอฟเวิร์นเมนต์ รับผิดชอบโดยรัฐบาล ซึ่งจะมีอี - อบต.
7,200 ตำบล ทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายด้วย อี-อินดัสตรี มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับผิดชอบหลัก อี-คอมเมิร์ซ สภาหอการค้า เป็นผู้รับผิดชอบ อี-เอดูเคชั่น
จะต้องรอหลัง 1 ต.ค.เพื่อให้มีหน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาชัดเจนก่อน จึงจะทราบผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
และอี-โซไซตี้ มีตัวเขาเป็นผู้รับผิดชอบ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2545
|