นักวิจัยพัฒนาดิสก์ความจุระดับเทราไบต์
นักวิจัยอังกฤษ
พัฒนาเทคนิคจัดเก็บข้อมูลเชิงแสงรูปแบบใหม่ ส่งผลให้แผ่นดิสก์มีความจุสูงถึงระดับเทราไบต์
เชื่อปิดทางทำสำเนาซีดีเถื่อน เหตุต้องใช้อุปกรณ์แม่แบบยกชุดถึงจะทำได้
ขณะที่คาดวางตลาดได้ปี 2553
เวบไซต์ นิวไซอันซ์ทิส ดอท คอม รายงานว่า
ทีมวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคจัดเก็บข้อมูลเชิงแสงรูปแบบใหม่
ส่งผลให้แผ่นดิสก์มีความจุสูงถึงระดับเทราไบต์
นายปีเตอร์ มันโร หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า
ในแผ่นดีวีดีปกตินั้น ข้อมูลจะถูกเข้ารหัสและบันทึกลงในร่องที่มีลักษณะเป็นรอยเว้าบนผิวของดิสก์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ซึ่งร่องดังกล่าวจะแทนข้อมูลฐานสอง ได้แก่ "1" หรือ "0"
ด้วยการยิงแสงเข้าไปและรับปริมาณแสงที่สะท้อนกลับมา "แปลง" เป็นข้อมูลของจุดนั้นๆ "ยิ่งดิสก์มีหลายชั้นเท่าใดก็จะยิ่งจัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าดีวีดีแบบหลายชั้นสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ราว
16 กิกะไบต์ หรือเท่ากับภาพยนตร์คุณภาพสูงที่มีความยาวประมาณ
8 ชั่วโมง" นายมันโร กล่าว และอธิบายว่า
พฤติกรรมที่เป็นขั้ว (แนวตั้งหรือแนวนอน) ของแสง สามารถนำมาเข้ารหัสข้อมูลได้ด้วย โดยนำมาพัฒนาแผ่นดิสก์ที่มีช่อง (pit)
ของข้อมูล ซึ่งค่าข้อมูลจะเปลี่ยนไปตามมุมต่างๆ
ที่แสงสะท้อนออกมายังตัวอ่านค่า ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นดิสก์ในปัจจุบันถึง
10 เท่า
"เทคนิคดังกล่าว
ช่วยให้ทีมวิจัยสร้างดิสก์ที่มีความจุต่อชั้น 250 กิกะไบต์ เพียงพอในการจัดเก็บภาพยนตร์ความยาว
118 ชั่วโมง นั่นหมายความว่ารายการโทรทัศน์ทุกตอนที่แพร่ภาพไปแล้ว
จะสามารถนำมาจัดเก็บในดิสก์แผ่นเดียวได้ โดยที่ดิสก์ขนาด 4
ชั้น จะให้ความจุถึงระดับ 1 เทราไบต์" นายมันโร กล่าว ทั้งนี้ ทีมงาน คาดว่า น่าจะใช้เวลาราว 5 ปี เทคโนโลยีนี้ถึงจะเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2553
นายวูลฟ์กัง ชลิชติง
ผู้อำนวยการหน่วยจัดเก็บข้อมูลของบริษัทไอดีซี เชื่อว่า ตลาดจะต้องการดิสก์รูปแบบใหม่นี้อย่างมหาศาล
แต่เตือนว่า ทีมผู้ผลิตจะต้องหาวิธีที่ผลิตแล้วคุ้มทุน
เพราะเทคโนโลยีรูปแบบนี้ทำได้ยาก และมีราคาแพงกว่ารูปแบบทั่วไป ขณะที่
นายมันโรย้ำว่า ดิสก์ใหม่นี้ จะทำให้การทำสำเนาดิสก์เถื่อนเป็นเรื่องยาก เพราะต้องซื้ออุปกรณ์ต้นแบบมายกชุด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2547
|