"เทคโนโลยี" ปัจจัยขับธุรกิจคอนเท้นท์ สร้างรายได้ใหม่
สุจิตร ลีสงวนสุข
การหลอมรวมเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยี คอนเวอร์เจนซ์ ทำให้สื่อ
หรือมีเดียที่มีอยู่คาบเกี่ยว และทับซ้อนกันมากขึ้น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขึ้นก็คือ
การสื่อแพร่ภาพกระจายเสียง หรือบรอดคาสติ้ง ที่เริ่มขยายสายธุรกิจมานำเสนอบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ในลักษณะวิดีโอ สตรีมมิ่ง รวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านระบบจีพีอาร์เอส (General
Packet Radio Service) และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา หรือพีดีเอ (Personal
Digital Assistant) สิ่งสำคัญของสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรับโทรทัศน์
โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา ทั้งหมดเป็นเพียง "ตัวกลาง" หรือสื่อที่จะให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูล,
บริการ (คอนเท้นท์) ดังนั้นการมีอุปกรณ์ใหม่ๆ
จากการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เอง ที่จะรองรับเนื้อหาไปสู่ผู้บริโภคได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
นำไปสู่การสร้างรายได้ใหม่ให้กับเจ้าของเนื้อหา หรือผู้พัฒนาคอนเท้นท์
โดยล่าสุด บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวี
และอยู่ในกลุ่มของบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 2.5 ล้านเลขหมาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็กำลังอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีด้านการให้บริการด้านสื่อ
และสื่อสารของกลุ่ม มาหนุนโอกาสทำรายได้จากคอนเวอร์เจนซ์ เทคโนโลยี นายฟรังซัว
เธอรอน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ หรือซีโอโอ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาหารูปแบบธุรกิจและคัดเลือกเนื้อหารายการที่มีอยู่เพื่อนำเสนอไปในอุปกรณ์ใหม่ๆ
(มัลติดีไวซ์) ที่มีอยู่ในตลาด
โดยยังคงความชำนาญในธุรกิจหลัก ด้านเนื้อหา ทั้งการจัดแพ็คเกจ
การสร้างสรรค์ผลิตรายการ การจัดหา (ซอร์ซซิ่ง) การนำเสนอเนื้อหาไปในสื่อใหม่ๆ นั้น ต้องใช้เงินลงทุนเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถทำเนื้อหาตอบสนองเฉพาะความต้องการ
เป็น Re-purpose Content ซึ่งบริษัทเองกำลังเจรจากับพันธมิตรหลายรายเพื่อหาราคา
และรูปแบบให้บริการที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคใช้งานง่าย
และราคาที่เหมาะสม
ขณะที่ นายองอาจ ประภากมล
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ในเบื้องต้นนี้
บริษัทเริ่มทดลองจากบริการส่งข้อความขนาดสั้น หรือเอสเอ็มเอสก่อน ภายใต้บริการใหม่
"My
UBC" ที่ได้ลงทุนระบบกว่า 1 ล้านบาท ที่นำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าเฉพาะบุคคล
ประกอบด้วย บริการ My Schedule ให้สมาชิกกำหนดรายการโปรด 5 ช่องรายการ เพื่อวางแผนการรับชม โดยสามารถใช้บริการแจ้งเตือน (อะเลิร์ท) ผ่านอี-เมล์ หรือเอสเอ็มเอสของโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยเริ่มจากระบบของทีเอ ออเร้นจ์ และจะขยายไปครอบคลุมอีก 2
ผู้ให้บริการ ในเดือนตุลาคม นี้ รวมทั้งมีบริการ Score On Screen แจ้งผลบอลกีฬาฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก กัลโซ่ เซเรียอา และบุนเดสลีกา ซึ่งจะให้บริการทั้งกับสมาชิก
และบุคลากรภายนอกที่ลงทะเบียนใช้บริการผ่านเวบ www.ubctv.com รวมทั้ง ในอนาคตหากเทคโนโลยีพร้อม
ก็อาจเลือกบางช็อตของการยิงประตูมานำเสนอด้วย จากนั้นก็ขยายผลไปยังเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
(บรอดแบนด์) ของบริษัท เทเลคอมเอเซีย
จำกัด (มหาชน) โดยเป็นหนึ่งใน 10 พันธมิตรของทีเอในโครงการ บรอดแบนด์นี้
ซึ่งได้ทดลองนำรายการข่าวช่องยูบีซี 7 มานำเสนอผ่านเวบไซต์
www.tabroadband.com
ยกดิสคัฟเวอรี่ขึ้นเน็ต
สำหรับเนื้อหาที่คาดว่าจะนำมาเสนอ
และคิดค่าบริการในเชิงพาณิชย์นั้น จะเริ่มจากสารคดีช่อง "ดิสคัฟเวอรี่
แชนนัล" เป็นสารคดีขนาดสั้นความยาว 30-60 นาที เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เจาะกลุ่มเด็ก ทางด้านสื่ออื่นๆ
ที่จะขยายผลไปนั้น บริษัทก็ได้เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ก่อตั้งโครงการมัลติ แอ็คเซส
พอร์ทัล (MAP) ของทีเอด้วยเช่นกัน ซึ่งจะสร้างมาตรฐานเนื้อหาให้สามารถนำเสนอไปในอุปกรณ์ปลายทางที่หลากหลายได้นั่นเอง
ซึ่งทีเอ ออเร้นจ์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็มีแผนเปิดให้บริการจีพีอาร์เอส
ในปีหน้า และเป็นหนึ่งในพันธมิตรโครงการนี้
ประเด็นที่ท้าทาย
นายเธอรอน กล่าวว่า
นอกจากประเด็นการหารูปแบบธุรกิจแล้ว ยังมีประเด็นทางกฎหมายโดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ
โดยรายการที่บริษัทจัดหามาจากต่างประเทศนั้น จะต้องคิดราคาค่าเนื้อหาที่เพิ่มสูงด้วย
ดังนั้นหากบริษัทนำเนื้อหารายการที่มีไปกระจายในช่องทางใหม่ โดยเฉพาะเพลงและภาพยนตร์
ซึ่งก็มีอัตราสากลที่คิดค่าลิขสิทธิ์ตามลักษณะสื่อที่เผยแพร่ด้วย เช่น ภาพยนตร์ อัตราค่าลิขสิทธิ์
เผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ การทำแผ่นดีวีดี/วิดีโอเทป และการนำมาฉายตามฟรีทีวี
ก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ปัจจุบันมีเครื่องบันทึกภาพดิจิทัล (PVR:
Personal Video Recorder) ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ความจุ 60 กิกะไบต์ในเครื่อง ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกดาวน์โหลดภาพยนตร์ที่ชอบและเลือกดูได้ตามเวลาที่ต้องการ
ซึ่งจะสามารถคิดค่าบริการตามจำนวนที่บันทึกได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเจ้าของเนื้อหา กำลังกังวลว่าการบันทึกภาพยนตร์เองเฉพาะบุคคลในเครื่องพีวีอาร์
จะเป็นช่องทางกระจายไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์เอง กำลังคิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลซึ่งบันทึกไว้ทำลายตัวเองตามเวลาที่กำหนด
เพื่อลดปัญหาการละเมิด
"แม้เราอาจมีช่องทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสื่อใหม่ แต่ก็ยังคงมีต้นทุนจากค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย"
นายเธอรอนกล่าว สำหรับในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
บริษัทจะมีรายได้จากบริการเสริมใหม่ๆ ไปยังลูกค้าผ่านสื่อต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้มากกว่าร้อยละ
90 จะมาจากรายได้จากค่าสมัครสมาชิก ซึ่งฐานสมาชิกปัจจุบัน 420,000 ครัวเรือน และถึงสิ้นปีจะอยู่ที่ 460,000 ครัวเรือน
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2545
|