บิ๊กไอซีทีชี้วิถีบริโภคกุมทิศทาง IT ดันเปิดเสรีเพิ่มแข่งขัน-ดึงราคาลง
มนุษย์ไอซีทีประสานเสียง
เทคโนโลยีสัมพันธ์วิถีชีวิตมนุษย์เหนียวแน่น มุ่งอาศัยเทคโนโลยีเสริมศักยภาพคนยุคใหม่
ผ่านการเรียนรู้ออนไลน์ พร้อมหนุนเปิดเสรีเพื่อให้เทคโนโลยีมีการแข่งขันและราคาถูกลง
ซึ่งช่วยให้คนไทยเข้าถึงได้ถ้วนหน้ายิ่งขึ้น
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หรือไอซีที กล่าวในการประชุมอภิปรายเรื่อง "ICT-Improving the
Lifestyle of Our People" ว่า วิถีการดำเนินชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป
โดยขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละยุคแต่ละสมัย สำหรับในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้คนต่างต้องการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ E-learn ing จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
โดยต้องมีการพัฒนาสำคัญ 3 ประการ เพื่อให้บริการ E-learning
อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ประการแรก
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้
นอกจากนี้ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
จึงต้องปรับค่าบริการให้ถูกลง อาทิ การให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทั้งนี้
คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีผู้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประมาณ 1 ล้านคน
การพัฒนาที่สำคัญประการที่ 2 คือความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทย
เปิดโอกาสให้เรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้นฟรี และเรียนโปรแกรมขั้นสูงในราคาย่อมเยา
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านนี้ ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
กระทรวงไอซีทีจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ไอซีที (ICT learning center) ในศูนย์การค้าใจกลางเมือง เพื่อให้บริการด้านคอมพิวเตอร์แก่เยาวชน
ส่วนการพัฒนาที่ต้องให้ความสนใจประการที่ 3
คือ การพัฒนาคอนเทนต์ หรือเนื้อหาข้อมูล โดยจะมีการตั้งเว็บพอร์ทัล ที่สามารถเชื่อมต่อไปยัง
เว็บไซต์อื่นๆ ได้ ทำให้คนไทยสามารถเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้อื่นๆทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในการแบ่งปันข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแก่กันและกันด้วย
โดยจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีแม่โขง ซึ่งมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเสมือนจริง
(visual univer sity) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในประเทศเหล่านี้
นอกจากนี้ น.พ.สุรพงษ์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนไทย
เมื่อประเทศก้าวขึ้นเป็นฮับไอทีแห่งใหม่ของภูมิภาคในปี 2552
ว่า คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนจะอยู่ที่
1 : 5 ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีโอกาสในการค้นคว้าและฝึกฝนความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ได้มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในด้านแอนิเมชั่น และมัลติมีเดีย เนื่องจากเห็นว่าคนไทยมีความคิดสร้าง สรรค์และรักศิลปะ ทั้งนี้ ภาครัฐต้องการสนับสนุนให้ไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นพิเศษ
เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการแก่ผู้ต้องการใช้บริการในประเทศอื่นๆ ตลอดจนเปิดบริการเว็บเฉพาะ
อาทิ บริการมัลติมีเดีย บริการแอนิเมชั่น บริการ อีเมดิคอล (E-medical) การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์
ด้าน มร.วิล พูล ตัวแทนจากไมโครซอฟท์
ยักษ์ใหญ่ของวงการซอฟต์แวร์โลกชี้ว่า เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์
ในแง่ที่ช่วยพัฒนาการศึกษาแก่คนทั่วไป และสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐต้องทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ต้องรู้จักพัฒนาเทคโนโลยีสากลให้เป็นของท้องถิ่น เช่น
การแปลเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตอบสนองความ
ต้องการของคนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ และคืนผลตอบแทนคุ้มค่าแก่นักพัฒนา
สำหรับมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคู่ชีวิตของคนยุคปัจจุบันนั้น
นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงทรรศนะว่า เทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของคนต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน
โดยเทรนด์ไลฟ์สไตล์ยุคนี้คือ ความรวดเร็ว และความสะดวกสบาย
ที่คนเราสามารถหาได้จากเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังมีความต้องการหลากหลายมากยิ่งขึ้นทุกวัน
ซึ่งเป็นสิ่งผลักดันผู้ให้บริการเทคโนโลยีต้องพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ
มาตอบสนองความต้องการเหล่านี้
ขณะเดียวกัน มร.เดนนิส หลุย ตัวแทนจาก ฮัทชิสัน
ออกมาเสนอความคิดเห็นไปในแนวเดียว กันว่า เทคโนโลยีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสมัยนี้
ทั้งด้านความสะดวกสบาย ความบันเทิง การศึกษา และความปลอดภัย
ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทุ่มเทคิดค้นบริการใหม่ๆ ก็เพื่อทำให้ชีวิตของคนสบายยิ่งขึ้น
โดยเห็นได้จากปัจจุบันที่คนเราสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งภาพ เสียง และข้อความ ได้ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยใช้โทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ มร.คีธ วิลเลทท์ส
ประธานกรรมการเทเลแมเนจเมนต์ ฟอรั่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีและชีวิตมนุษย์ว่า
มีการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ระดับธุรกิจไปจนถึงการป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องทำกับเทคโนโลยีในยุคนี้คือ การทำให้ราคาของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่างๆ
ถูกลง เพื่อให้คนส่วนใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้
ควรเปิดเสรีตลาดสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ราคาของสินค้าด้านเทคโนโลยีลดลง
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2547
|