บริการที่ปรึกษา : เครื่องมือช่วยลดต้นทุน
เอชพี เสนอ 2 บริการใหม่
เสริมรายได้ธุรกิจที่ปรึกษา แนะองค์กรยุบรวมระบบไอที ลดต้นทุน เจาะตลาดโทรคมนาคม-ธนาคาร
นายรอส เทมเพิลตัน ผู้จัดการ
โซลูชั่นและซอฟต์แวร์ ระบบยูนิกซ์ ฝ่ายลูกค้าองค์กรธุรกิจ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด
ออสเตรเลีย กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มนำเสนอการให้บริการที่ปรึกษา
ซึ่งแนะนำองค์กรให้ลงทุนระบบ ยูติลิตี้ ดาต้า เซ็นเตอร์ (Utility Data
Center) ที่เป็นวิธีหนึ่งภายใต้แนวคิดการยุบรวมระบบ (System
Consolidation) สำหรับบริการภายใต้แนวคิดดังกล่าว จะเน้นการจัดกลุ่มทรัพยากรระบบ
(พูล) โดยเฉพาะในส่วนของฮาร์ดแวร์ทั้งอุปกรณ์เครือข่าย
อุปกรณ์สำรองข้อมูล และเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และใช้ซอฟต์แวร์ช่วยจัดการบริหารระบบ
ในลักษณะเสมือน (รีซอร์ส เวอร์ช่วลไลเซชั่น) ประโยชน์ที่จะได้รับทำให้ลดพื้นที่การใช้งานดาต้า เซ็นเตอร์ สามารถใช้ทรัพยากรระบบที่มีอยู่ได้เต็มประสิทธิภาพและวัดการใช้งานจริงได้
ขณะเดียวกัน สามารถสร้างระบบงานใหม่ๆ เพิ่มเติมและลดเวลาการนำเสนอบริการใหม่ๆ
ลดต้นทุนบริหาร-ปฏิบัติการ
ขณะที่ในภาพรวมของการลดต้นทุนนั้น จะครอบคลุมตั้งแต่ด้านการพัฒนาระบบงานเพิ่มเติม
30%-80% การวางแผนประสิทธิภาพ (Capacity Planning) 5%-40%
ด้านปฏิบัติการ 80%-100% ด้านวัดประสิทธิผลการทำงาน (ยูสเสจ มิเตอริ่ง) 5%-30%
และด้านอัพเกรดและย้ายระบบราว 20%-40% ขณะเดียวกัน
บริษัทก็นำเสนอแนวคิดใหญ่ของกรอบการบริหารระบบองค์กรโดยรวม "การยุบรวมระบบ" (ซิสเต็ม คอนโซลิเดชั่น)
ที่เน้นการจัดการทรัพย์สินด้านไอทีทั้งหมดขององค์กรที่กระจายอยู่ทุกส่วนงาน
ลดความซ้ำซ้อนของระบบที่มีอยู่ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ โดยมุ่งเป้าที่การลดต้นทุนการเป็นเจ้าของระบบโดยรวม
(ทีซีโอ) และดูผลตอบแทนจากการลงทุน (อาร์โอไอ) เป็นหลัก ทั้งนี้
จากข้อมูลจากการ์ทเนอร์กรุ๊ป ระบุตัวเลขที่คาดว่าจะลดต้นทุนได้ ภายใต้แนวคิดการยุบรวมระบบ
ถ้ายุบรวมเครื่องแม่ข่ายจะลดต้นทุนได้ 8%-12% ระบบปฏิบัติการ
(โอเอส แพลทฟอร์ม) 10%-15%
ระบบสำรองข้อมูล (สตอเรจ) 5%-8% ระบบสำรอง
(แบ็คอัพ) 3%-5% ด้านการจัดการ 5%-20%
จูงใจองค์กรใหญ่
ขณะที่ด้านตลาดเป้าหมายนั้น บริษัทคงเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจการเงินและธุรกิจโทรคมนาคม
รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดาต้า เซ็นเตอร์)
เป็นของตัวเอง และมีระบบที่ซับซ้อนและขนาดใหญ่ จึงเหมาะที่เป็นกลุ่มแรกๆ
ที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบยูติลิตี้ ดาต้า เซ็นเตอร์ รวมทั้งบริษัทนำเสนอให้แบบเอาท์ซอร์สซิ่ง
สำหรับองค์กรที่ไม่ต้องการลงทุนระบบเองด้วย ส่วนในธุรกิจผู้ให้ให้บริการศูนย์ข้อมูล
(อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือไอดีซี) คงเป็นตลาดที่รองลงไป เนื่องจากภาวะตลาดที่แข่งขันสูง ทำให้ผู้ให้บริการเน้นหาลูกค้ามากกว่าที่จะลงทุนใหม่
นายศุภมิตร ชลประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไป
ประจำประเทศไทย กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษา ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กล่าวว่า แนวโน้มการยอมรับการใช้บริการขององค์กร น่าจะเริ่มจากบริการยูติลิตี้
ดาต้า เซ็นเตอร์มากกว่า เนื่องจากหากเป็นการยุบรวมทั้งองค์กร จะกระทบกับหลายหน่วยงานในองค์กร
ก็จะทำได้ยากกว่า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 เมษายน
2545
|