เทคโนโลยีเครือข่ายร่วม เปิดช่ององค์กรเผชิญมหันตภัยใหม่
กิ่งกาญจน์
ตรียงค์
แนวโน้มการรวมเครือข่าย (คอนเวอร์เจนซ์) เข้าสู่การร่วมให้บริการเสียงและข้อมูล
ผ่านโครงข่ายเดียว (ไอพี เน็ตเวิร์ค) และการขยายตัวของปริมาณใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพา
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ เปิดช่ององค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับ "ความเสี่ยง" และปัญหาด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น
ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน
รายงานผลสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ว่าตลาดระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติผ่านโครงข่ายไอพี
(ไอพี-พีบีเอ็กซ์) ในเอเชียแปซิฟิก
มียอดขายเติบโตขึ้น 300% ระหว่างปี 2543-2544 และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น 1.67
พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2551 หรือเติบโตต่อปีประมาณ 65.1%
ขณะที่ตลาดพีบีเอ็กซ์ จะเติบโตติดลบประมาณ 2.9% ลงเหลือ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไอพี-พีบีเอ็กซ์ ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการเติบโตของตลาดอุปกรณ์ด้านเสียง ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปีดังกล่าว
อุตสาหกรรมนี้จะมีสัดส่วนเป็น 55% ของตลาดพีบีเอ็กซ์
ด้านนายแมทธิว เดวิดสัน
ผู้จัดการบริหารการสื่อสารและประชาสัมพันธ์อาวุโส ประจำสำนักงานใหญ่ บริษัท อวาย่า
อิ๊งค์ กล่าวว่า แนวโน้มที่สูงขึ้นของการรวมเครือข่ายเสียงและข้อมูล ช่วยเพิ่มโอกาสให้ไวรัสเข้ามาโจมตีระบบได้ง่ายขึ้น
รวมถึงมีความเสี่ยงในเรื่องของระบบความปลอดภัยมากขึ้น เพราะความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทั้งในส่วนที่เป็นสายโทรศัพท์
และเครือข่ายสื่อสารข้อมูล ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน และการดูแลลูกค้า "หลายบริษัทเริ่มมองการคอนเวอร์เจนซ์
เครือข่ายที่รวมเสียงและข้อมูลเข้าด้วยกัน (ไอพี) จึงเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ
ด้วย เพื่อรักษาประสิทธิภาพด้านธุรกิจ" นายเดวิดสัน
กล่าว ทั้งนี้ เขายกตัวอย่างถึงความเสี่ยงหลักๆ สำหรับระบบเครือข่ายในปัจจุบันว่า ได้แก่
ไวรัส, การก่อวินาศกรรม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอันดับต้นๆ
ของสหรัฐอเมริกา, ระบบไฟฟ้าขัดข้อง ตลอดจนภัยธรรมชาติ
โดยผลสำรวจของบริษัทการ์ทเนอร์
เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยว่า ธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ ที่ได้ติดตั้ง
หรือมีแผนติดตั้งโปรแกรมกู้ระบบล่ม มีสัดส่วนสูงถึง 94% อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปผลของกระบวนการเตรียมพร้อมรับการเกิดความเสียหายของระบบการทำงานดังกล่าว
กลับพบว่ายังต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นอย่างมาก
ขณะที่รายงานวิจัยด้านอาชญากรรม
และการรักษาความปลอดภัยด้านระบบคอมพิวเตอร์ ประจำปี 2546 ของสถาบันการรักษาความปลอดภัยด้านคอมพิวเตอร์ ระบุว่าประมาณ 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานรัฐ ระบุว่าประสบปัญหาการบุกรุกระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรในช่วง
12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 74% ระบุว่าการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต มักเป็นช่องทางที่ถูกโจมตีมากที่สุด,
70% ของรายงานการถูกโจมตีอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2543 ซึ่งมีประมาณ 64%, 55%
เผยว่ามีการปฏิเสธการให้บริการ และ 40% พบว่ามีความพยายามเจาะเข้าสู่ระบบจากบุคคลภายนอก
อินเทอร์เน็ตขยายตัว-ความเสี่ยงเพิ่ม
นอกจากนี้
ยังมีผลวิจัยจากบริษัทไอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งคาดการณ์ว่า
ในปลายปีนี้จะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 165 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่
(โมบาย อินเทอร์เน็ต) ในภูมิภาคนี้ถึง 25 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ได้ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตไว้ในองค์กร เพื่อพัฒนากระบวนการสื่อสารระหว่างพนักงาน,
ลูกค้า, การประสานงานกับคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น หากระบบเครือข่ายดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ,
การก่อวินาศกรรมทั้งบนโครงสร้างพื้นฐาน หรือภายในเครือข่าย, การขโมยข้อมูลจากภายนอก ก็จะทำให้กระบวนการทำธุรกิจมีโอกาสหยุดชะงักลง
ขณะที่นายสุทัศน์
คงดำรงเกียรติ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อวาย่า เอเชีย-แปซิฟิก อิ๊งค์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า
การหยุดชะงักของธุรกิจ จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่ม
จึงจำเป็นต้องมีแผนงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
โดยบริษัทเห็นถึงโอกาสทางการตลาด ในการนำเสนอระบบงานที่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาระบบเครือข่าย
ให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว และทำงานได้ราบรื่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน
ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกมาแรง
นายเดวิดสันกล่าวว่า
ปัจจุบันประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก เริ่มมีความตื่นตัวด้านเทคโนโลยีไอพีมากขึ้น
ดังนั้น ล่าสุดบริษัทจึงได้ตัดสินใจเดินสาย (โรดโชว์)
เพื่อแนะนำโซลูชั่นใหม่ของอวาย่า ในตลาดหลักๆ ของภูมิภาคนี้ ได้แก่
เกาหลี, ฟิลิปปินส์, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งลูกค้าโดยเฉพาะในกลุ่มองค์กรใหญ่
มีแนวโน้มสนใจลงทุนติดตั้งระบบงานที่จะสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบจากความเสี่ยงต่างๆ
โดยคุณสมบัติของโซลูชั่นใหม่ดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงระบบรักษาความปลอดภัย และความสามารถในการแก้ไขระบบเครือข่าย
และโปรแกรมการทำงานต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาทำงานตามปกติได้อย่างรวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพ
3 โซลูชั่นใหม่หนุนรับมือความเสี่ยง
สำหรับโซลูชั่นล่าสุดของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว
ประกอบด้วย
1.อวาย่า คอมมูนิเคชั่น
แมเนเจอร์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบการประมวลผลสายโทรศัพท์ โดยสามารถติดตั้งเพิ่มเติมในระบบพีบีเอ็กซ์ที่องค์กรใช้อยู่
สนับสนุนประมวลผลสายโทรศัพท์เรียกเข้า และบริหารจัดการจากส่วนกลาง ซึ่งทำงานผ่านเครื่องแม่ข่าย
รวมถึงสามารถขยายการทำงานไปยังเกตเวย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รองรับแนวโน้มการทำงานรูปแบบใหม่
ของการให้บริการคอลล์เซ็นเตอร์ระยะไกล (รีโมท คอลล์เซ็นเตอร์)
2.อวาย่า ซี640 คอนเวอร์เจนซ์ มัลติเลเยอร์ สวิตช์ หรือระบบการสื่อสารรวมเสียงและข้อมูล
เพื่อรองรับระบบโทรศัพท์ไอพี โดยมีจุดเด่นของระบบซึ่งออกแบบมา สำหรับแอพพลิเคชั่นด้านเสียงบนโครงข่ายไอพีโดยเฉพาะ
เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่มักออกแบบสำหรับการสื่อสารข้อมูลเป็นหลัก
3.อวาย่า ซิเคียวริตี้
เกตเวย์ หรือระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับโทรศัพท์ไอพี โดยผนวกระบบไฟร์วอลล์
เครือข่ายสื่อสารเสมือนจริงแบบจุดต่อจุด การเข้าถึงระยะไกล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบสื่อสารด้วยเสียงและข้อมูลแบบไร้สายได้อย่างปลอดภัย
นายสุทัศน์กล่าวว่า สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย บริษัทจะเน้นไปที่ลูกค้าในภาคสถาบันการเงิน,
ราชการ, บริษัทสื่อสาร และสถาบันการศึกษา เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมาก
และมีส่วนงานที่กระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมองถึงภาคธุรกิจขนาดกลาง
ที่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยงานมากขึ้น รวมถึงกระแสการรวมเครือข่ายเสียงและข้อมูลเข้าด้วยกัน
เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ โดยมองว่าลูกค้าในกลุ่มนี้
อาจเริ่มต้นใช้โซลูชั่นใหม่จากระบบซอฟต์แวร์อวาย่า คอมมูนิเคชั่น แมเนเจอร์
เนื่องจากเป็นระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์แบบเปิด ที่นำไปติดตั้งกับระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ
(พีบีเอ็กซ์) ที่องค์กรมีอยู่ได้ทันที
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2546
|