ตั้งบริษัทบริหารสัมปทานผิดกม. เอกชนฝันสลายเสียบแปรสัญญา
'คมนาคม' เปลี่ยนแผนควบรวม กสท.-ทศท. ดึงสัญญาสัมปทานคงอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยธุรกิจ
กสท.และ ทศท.ตามเดิม เหตุคณะทำงานศึกษาตั้ง
'บริษัทกลาง' บริหารสัมปทานสะดุดข้อกฎหมายเพียบ
กฤษฎีกายืนยันทำไม่ได้ต้องรอ กทช. ชี้ขัดกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
ม.80
นายศรีสุข จันทรางศุ
ปลัดกระทรวงคมนาคม และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้า
การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบโครงสร้างหลังการควบรวมว่าจะประกอบด้วย
2 บริษัท คือ 1.บริษัท ไทย เทเลคอม
จำกัด ซึ่งแบ่งเป็น 2 หน่วยงานธุรกิจ (business unit)
คือ หน่วยธุรกิจ ทศท. และหน่วยธุรกิจ กสท.
และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีกรรมการผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบ
และยังคงสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินกิจการและสัญญาสัมปทานกิจการร่วมการงานโทรคมนาคมของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งในส่วนของสินทรัพย์และโครงข่ายตามเดิม
'เมื่อรวมกิจการแล้ว สัญญาร่วมการงานฯของแต่ละฝ่ายจะยังคงอยู่กับคู่สัญญา
และจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่นเดิม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้หารือกับสำนักงานกฤษฎีกาในเรื่องสิทธิสัญญาตามเดิมของแต่ละหน่วยธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัทไทย
เทเลคอมแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นไม่น่ามีปัญหา' นายศรีสุขกล่าว ด้านนายสุธรรม
มลิลา ผู้อำนวยการ ทศท.กล่าวเสริมว่า ทศท.และ กสท.จะยังคงสิทธิและประโยชน์ตามทรัพย์สินที่มีอยู่ในธุรกิจสัญญาร่วมการงานฯเช่นเดิม
รวมทั้งการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในเรื่องค่าเชื่อมวงจร (access charge) ที่จะต้องถือปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นนิติบุคคลเดียวกันภายหลังรวมกิจการก็ตาม
สำหรับแนวทางการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset company) เป็นแนวความคิดของกระทรวงการคลังที่ต้องการแยกสินทรัพย์และธุรกิจสัญญาร่วมการงานฯออกมาบริหารจัดการต่างหาก
ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการศึกษาเรื่องนี้อยู่ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่
ขณะที่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ
กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานด้านกฎหมายของกระทรวงการคลังยังคงศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ของ
2 หน่วยงาน ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามีปัญหาในข้อกฎหมายบางฉบับที่อาจจะขัดต่อการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว
นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวว่า แนวคิดการตั้งบริษัทบริหารสัมปทานขึ้นมาดูแลสัญญาสัมปทานของ
กสท. และ ทศท.นั้นไม่สามารถทำได้
เนื่องจากผิดต่อมาตรา 80 และมาตรา 53 ในกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
และกำกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม 2543 ซึ่งหากประสงค์จะโอนย้ายสัญญาสัมปทานไปให้บริษัทบริหารสัมปทานเป็นผู้ดูแล จะต้องรอให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กทช.) เสียก่อนจึงจะสามารถกระทำได้
ทั้งนี้ในกรณีที่ยังไม่มีการจัดตั้ง กทช. แต่ ทศท. และ กสท. มีความประสงค์จะควบรวมกิจการ โดยสัญญาสัมปทานยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งสององค์กรเช่นเดิม
การควบรวมก็สามารถทำได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวเสริมว่า จากข้อสรุปในการหารือระหว่างคณะทำงานศึกษาด้านกฎหมายในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์
พบว่า มีข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 บทเฉพาะกาลมาตรา 79 และ 80
ที่เป็นปัญหาอยู่ จึงทำให้การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้
ทางคณะกรรมการบริการกิจการร่วมค้าจึงได้มีมติให้สัญญาสัมปทานอยู่ภายใต้หน่วยธุรกิจ
ทศท.และ กสท.ตามเดิม เนื่องจากมาตรา 80 ระบุว่า ถ้า ทศท.และ กสท.ได้ให้อนุญาตสัมปทานหรือสัญญาแก่ผู้ใดเป็นผู้ประกอบการก่อนที่กฎหมายบังคับใช้
ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยังคงมีสิทธิประกอบกิจการตามเดิม หากจะมีการเปลี่ยนการอนุญาตสัญญาสัมปทาน
จะต้องให้ กทช.เป็นผู้อนุญาต
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 เมษายน
2545
|