คอมไทยคุณภาพเนคเทคเตรียมตั้งสมาคม
โครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพเนคเทค
เตรียมจดทะเบียนตั้งสมาคม ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ภายในเดือนนี้
ทั้งปรับทิศไม่เน้นกลยุทธ์ด้านราคา สร้างความยืดหยุ่น
กำหนดคุณสมบัติผลิตภัณฑ์และราคา ตามความต้องการตลาดแท้จริง
นายพลากร จิรโสภณ โฆษกประจำโครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพเนคเทค
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตเข้าร่วม 14 ราย กล่าวว่า ภายในเดือนนี้สมาชิกของโครงการจะรวมตัวกันยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตคอมพิวเตอร์
เพื่อเป็นกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ช่วยเจรจากับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ ทั้งกฎหมายและภาษี รวมถึงบทบาทในด้านวิชาการ
ความรู้ในด้านเทคนิค
เป้าหมายของสมาคมจะสนับสนุนให้เกิดคอมพิวเตอร์ในประเทศจากผู้ผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
โดยประมาณการทั่วประเทศไทยมีจำนวนผู้ผลิตและประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศ 3,000 ราย
เฉพาะกรุงเทพฯ ประมาณ 2,000 ราย แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มียี่ห้อเป็นที่ยอมรับในคุณภาพจะมีอยู่เพียง
20-30 ราย ดังนั้นจึงต้องการให้กลุ่มที่เหลือเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมจากจำนวนผู้ก่อตั้งสมาคมใน
14 รายดังกล่าว ขณะเดียวกันโครงการได้ปรับนโยบายกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของคอมพิวเตอร์
และเปิดโอกาสให้สมาชิกในโครงการปรับสเปคของเครื่องและราคาตามความเหมาะสมของตลาดที่เปลี่ยนแปลง
จากสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถทำราคาระดับเดิม 19,900 บาทได้
สำหรับสเปคมาตรฐานในไตรมาสนี้แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ
รุ่นราคาประหยัดใช้ซีพียู 1 กิกะเฮิรตซ์, แรม 64 เมกะไบต์, ฮาร์ดดิสก์ 20 กิกะไบต์, จอภาพ 15 นิ้ว ขณะรุ่นประสิทธิภาพสูงสเปคขั้นต่ำชิพความเร็ว
1.7 กิกะเฮิรตซ์, แรม 128 เมกะไบต์ และฮาร์ดดิสก์ 40 กิกะไบต์ พร้อมกันนี้ทางกลุ่มได้นำเสนอข้อผ่อนปรนไปยังศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) ขอลดจำนวนชิ้นส่วนลงจากเดิมต้องให้ตรวจ
5 ชิ้น เหลือเพียง 4 ชิ้น ประกอบด้วย
เคส, พาวเวอร์ซัพพลาย, เมนบอร์ด
และสายไฟ (แบบพาวเวอร์พอร์ต) ขณะชิ้นส่วนที่
5 คือตัวประมวลผล หรือซีพียูจะส่งตรวจตามความเร็วของฟรอนต์
ไซด์บัส ของซีพียูแทน เพื่อความคล่องตัวทางธุรกิจ ส่วนการประชุมและเจรจากับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม
(สมอ.) ได้เสนอให้ สมอ. ตรวจสอบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐานขั้นต่ำ 4 ชิ้น คือ เคส,
เมนบอร์ด, พาวเวอร์ซัพพลาย และฟรอนต์ ไซด์บัส
ของซีพียู แทนตรวจสอบทั้งเครื่อง ในมาตรฐาน มอก.1956 ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
และมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เหมาะกับศักยภาพการตรวจสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวันละ
2-3 เครื่องของ สมอ. แต่เดิมบริษัทต้องส่งรุ่นคอมพิวเตอร์ให้ทดสอบอย่างน้อยบริษัทละ
4 รุ่น จะทำให้ สมอ. ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ทันกับที่เอกชนจะต้องทำตลาด
โดยโครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพเนคเทคตั้งเป้ายอดขายเฉลี่ยเดือนละ
5,000 เครื่อง ซึ่งตลาดหลักยังมาจากผู้ใช้ทั่วไป และราชการเป็นหลัก และคาดว่าปีนี้สัดส่วนของคอมพิวเตอร์ภายในประเทศจะอยู่
70% และอีก 30% จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์นำเข้าจากต่างประเทศ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม
2545
|