สงคราม-ดบ.ลด ส่งผลคอมพ์ไทยไตรมาส 4 ชะลอตัว
ตลาดคอมพิวเตอร์ไทยไตรมาส 4
ชะลอตัวเหตุสงคราม สหรัฐลดดอกเบี้ยหากทั้งปีโต 10-20%
ด้านไอบีเอ็มประกาศไตรมาส 2 ปี
หน้านำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าตลาดหลัง รีแบรนด์ "ธิงค์"
นายพิศาล มานะตั้งสกุลกิจ
รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
กล่าวว่า ปีนี้ ตลาดรวมคอมพิวเตอร์ในไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นราว 10-20%
ซึ่งไอบีเอ็มมีอัตราเติบโตระดับเดียวกับตลาด โดยไตรมาสที่ 4
ตลาดโดยรวมอาจชะลอลง อันมีผลสืบเนื่องจากปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องของสงคราม และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา
ส่งผลนักธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในการลงทุนมากพอ ขณะไตรมาสที่ 1-3
ยังมีอัตราการเติบโตในระดับหนึ่ง จากปัจจัยภายในหลายอย่าง เช่น สภาพเศรษฐกิจและปัญหาที่ไม่มีความรุนแรงมากนัก
จึงส่งผลให้มีการเพิ่มการลงทุนและมีอัตราการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงตลาดในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป
(Consumer) ที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องบัตรเครดิต ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของกลุ่มคอนซูเมอร์เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มปีหน้าสถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม การรีแบรนด์ของไอบีเอ็มจะสามารถกระตุ้นตลาดโดยภาพรวม และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
ขณะตลาดโน้ตบุ๊คยังคงเป็นตลาดที่มาแรงสุดในปีหน้า อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันสูงของตลาดโน้ตบุ๊คปีนี้
แต่ไอบีเอ็มจะยังไม่ลงเล่นมากนักในตลาดอุปกรณ์พกพา ประเภทแทบเล็ตพีซี และพีดีเอ เพราะตลาดโดยรวมยังไม่มีความนิ่งพอ
จึงกำลังจับตาดู
ทั้งนี้การที่ล่าสุดบริษัทประกาศกลยุทธ์บุกตลาดแนวใหม่ด้วยการรีแบรนด์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
โน้ตบุ๊ค จอภาพ รวมถึงแนวคิดทางเทคโนโลยีให้อยู่ภายใต้แบรนด์ "Think" โดยจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์นี้ราวไตรมาสที่ 2 ปี 2546 อันเป็นการปรับใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้เข้ากับอี-บิสซิเนส ออน ดีมานด์ ของไอบีเอ็ม
ซึ่งแสดงถึงความต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ของลูกค้าในรูปแบบใหม่ ในฐานะที่เป็นเสมือนระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมใช้ได้ตลอดเวลา
ทำให้ลูกค้าสามารถโต้ตอบแบบเรียลไทม์เพื่อกระตุ้นความต้องการในตลาดได้
นอกจากนี้ชุดผลิตภัณฑ์พีซีตระกูล "Think" ที่จะประกาศตัวปีหน้า ประกอบด้วย โน้ตบุ๊ค (Thinkpad) เดสก์ทอป (Thinkcenter) จอภาพ (Thinkvision) อุปกรณ์ต่อพ่วง และการบริการ ภายใต้ชื่อ Think Accessories &
Services รวมทั้งเทคโนโลยีและการออกแบบของไอบีเอ็มที่สำคัญ
ก็จะอยู่ภายใต้ชื่อใหม่ คือ Think Vantage Technologies และ Think
Vantage Design
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545
|