รายงาน : ซิสโก้ชี้ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสูงยอดเติบโตพุ่ง
ซิสโก้ หนึ่งในผู้นำตลาดอุปกรณ์เครือข่ายโลก ระบุผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องสอดคล้องทิศทางการเติบโตของการใช้ปริมาณแบนด์วิธขยายเพิ่ม 10 เท่า
ในโอกาสที่นายกอร์ดอน แอสเทิล ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ผู้บริหารอันดับ 3 ของบริษัทแห่งนี้
เดินทางเยือนประเทศไทย และบรรยายพิเศษในหัวข้อ "อนาคตเทคโนโลยีระบบเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
ในงานซิสโก้ โชว์เคส 2003 ที่โรงแรมโซฟิเทล
เซ็นทรัล พลาซา วานนี้ (10) เขาแสดงทัศนะว่า
กลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง (แอดวานซ์ เทคโนโลยี)
ที่บริษัทให้ความสนใจ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และสามารถสร้างรายได้สูงเข้าบริษัท
คิดเป็น 22% ของรายได้รวมทั้งบริษัท และมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง
สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของการใช้ปริมาณแบนด์วิธปีนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 10
กิกะบิตต่อวินาที จากปีที่ผ่านมาความต้องการใช้แบนด์วิธมี 1 กิกะบิตต่อวินาที
กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไร้สาย (ไวร์เลส)
ซึ่งบริษัททำตลาดอุปกรณ์สนับสนุนเครือข่ายความเร็วสูงไร้สาย (ไว-ไฟ) ไปประมาณ 40 ล้านยูนิต และมีแรงสนับสนุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น อินเทล
ที่ใช้ทั้งงบการตลาด 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และส่งชิพที่ใช้เทคโนโลยีเซนทริโนไปประมาณ 1 ล้านชิ้น กลุ่มต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์ไอพีเทเลโฟนี
ที่จะเข้ามาทดแทนตลาดของตู้ชุมสาย (พีบีเอ็กซ์) ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550
และจากข้อมูลการตลาดพีบีเอ็กซ์มีอัตราหดตัวลง 10% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้ใช้เติบโตรวดเร็ว
และผู้ผลิตผลักดันตลาดโดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบโทรศัพท์ไอพีแบบตั้งโต๊ะ
และพัฒนาสู่การพกพาในรูปลักษณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันตลาดนี้มีฐานลูกค้าประมาณ
10,000 รายทั่วโลก มียอดขายเครื่องโทรศัพท์ไอพีทั่วโลก 2 ล้านเครื่องในตลาดองค์กรขนาดใหญ่ และราชการ แต่ตลาดผู้ใช้ตามบ้านต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดจะเติบโตนั้น
ขึ้นกับนโยบายของภาครัฐ หรือผู้ดูแล (เรกูเรเตอร์) ของแต่ละประเทศ
เนื่องจากโทรศัพท์ระบบนี้ นับเป็นการปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารแบบเดิม
จากการสื่อสารด้วยเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต และเชื่อว่าในปลายปีนี้ การสื่อสารเสียง 25% จะอยู่บนอินเทอร์เน็ต แต่การเติบโตในภูมิภาคนี้
ต้องอาศัยปัจจัยการเติบโตของตลาดอินเทอร์เน็ความเร็วสูง (บรอดแบนด์)
ด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบรักษาความปลอดภัย ใยแก้วนำแสง
และอินเทอร์เน็ตสตอเรจ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุด และลูกค้าลงทุนมากที่สุด
ครอบคลุมถึงระบบการบริหารระบบจัดเก็บข้อมูล ซึ่งในอนาคตระบบดังกล่าวจะต่อเชื่อมไปสู่การให้บริการบนไว-ไฟ ทำให้ใช้งานได้จากทุกที่
ส่งผลต่อการลดต้นทุนการบริหารจัดการทรัพยากรและบุคลากร โดยบริษัทตั้งงบประมาณวิจัยและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ประมาณ
3,000 ล้านบาท สำหรับตลาดหลักจะอยู่ที่กลุ่มไอพีเทเลโฟนี
และความปลอดภัย ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 40%
จากรายได้ทั้งหมดของกลุ่มแอดวานซ์เทคโนโลยี
กลยุทธ์หนุนการเติบโต
ส่วนกลยุทธ์สนับสนุนการเติบโตของกลุ่มตลาดแอดวานซ์เทคโนโลยี
ได้แก่ 1. การเข้าหาลูกค้าเพื่อการอัพเกรดสินค้า โดยมุ่งนำเสนอส่วนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและนำเสนอแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ
เพิ่มรายได้, 2 การหนุนตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ 3. การให้บริการระดับพรีเมียม, 4. การสร้างพันธมิตร,
5.การกระตุ้นตลาดในกลุ่มผู้ให้บริการให้เห็นความสำคัญของการใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล,
6. การกระจายไปสู่กลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด, 7. การเจาะกลุ่มตลาดไปยังกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป (พับลิค
เซคเตอร์), 8. การรุกตลาดแนวดิ่ง เช่น กลุ่มลูกค้าธนาคาร และ
9.การนำเสนอเป็นโซลูชั่น ยังกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในการช่วยตัดสินใจลงทุนเทคโนโลยี
ตลาดไทยเตรียมปรับประมาณการ 10-15%
สำหรับตลาดประเทศไทยในปีที่ผ่านมา
บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มอุปกรณ์เราท์เตอร์ 92.5%, แลนสวิตช์
48.6% และองค์ประกอบอื่นๆ ในระบบแลน 64.9% ผ่านการทำตลาดกับพันธมิตร 3 ระดับ ทั้งเชื่อว่า
ตลาดไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการลงทุนของภาคธุรกิจ
และการปรับประมาณการเศรษฐกิจ
ด้านนายอัศวิน กังวลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย ) จำกัด กล่าวว่า
จากแนวโน้มตลาดที่ดีขึ้นในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา บริษัทจึงเตรียมปรับประมาณการรายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นอีก
10 - 15% จากเดิมตั้งไว้ปีละ 25% โดยปัจจัยหนุนการเติบโตดังกล่าวมาจากการลงทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
และการสร้างความต้องการให้ตลาดรวมถึงกลยุทธ์การทำตลาดที่จะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งมากขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันการทำตลาดจะเน้นไปยัง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.
ผู้ให้บริการ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวม
2. กลุ่มองค์กร 25% และ 3. กลุ่มคอมเมอร์เชียลประมาณ 25%
รับอานิสงส์จากซาร์ส
ส่วนภาพรวม 6 เดือนที่ผ่านมา แม้ตลาดโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
(ซาร์ส) แต่ผลจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
กลับช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารองค์กรชั้นนำหลายแห่งต่างหันมาลงทุนในเทคโนโลยีระบบเครือข่ายมากขึ้น
เนื่องจากเป็นวิถีทางที่ไร้ข้อจำกัดด้านเวลา, สถานที่ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการเดินทาง
โดยจากการสำรวจของเมอร์ริล ลินช์ พบว่า องค์กรส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนใน 1. ความปลอดภัยของระบบเครือข่าย 2. ระบบจัดเก็บข้อมูล
และ 3. การลงทุนในอุปกรณ์เครือข่ายเลเยอร์ที่ 3 ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนและการรุกตลาดใน 3
ตลาดข้างต้นเช่นกัน ทั้งนี้ 2 เดือนที่ผ่านมา
หลังผ่านวิกฤติโรคซาร์ส ตลาดกลับมาสู่สภาพเดิม และอยู่ในช่วงขาขึ้น
จากประมาณการจีดีพีของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ในปี 2547
จากปี 2546 อยู่ระดับ 5%
โดยมีจีนเป็นตลาดหลักที่มีขนาดใหญ่สุด
ลิงค์ซีสส์
ส่วนกรณีควบรวมกับบริษัท ลิงค์ซีสส์
กรุ๊ปในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาด้วยมูลค่าซื้อขายประมาณ 480
ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น นโยบายของบริษัทจะเน้นให้ลิงค์ซีสส์ เป็นแผนกหนึ่งของซิสโก้
และมีแบรนด์ของตัวเอง เพื่อทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าโซโห และกลุ่มลูกค้าตามบ้านทั่วไป ซึ่งเป็นตลาดที่ซิสโก้ยังคงมีช่องว่างเนื่องจากไม่สามารถปรับลดระดับราคาสินค้าลงมาทำตลาดได้
ส่วนแนวทางการดำเนินงาน ได้มีผู้บริหารของซิสโก้ ไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารแล้ว
และมีนโยบายการทำตลาดแยกจากซิสโก้อย่างชัดเจน "ลิงค์ซีสส์
สามารถตอบสนองตลาดธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มผู้ใช้ตามบ้านได้ดีเท่ากับเป็นการถมช่องว่างที่ซิสโก้ไม่มีโปรดักส์
นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย ซึ่งแนวทางพัฒนาสินค้าต่อไปก็คงจะเน้นเกี่ยวกับผู้ใช้งานตามบ้านมากขึ้น
เช่น เรื่องของดนตรี ที่อาจจะผนวกระบบเครือข่ายไร้สายเข้าไปให้ผู้ใช้บริการฟังเพลงเอ็มพี
3 ได้สะดวกขึ้น ในราคาต่ำ เป็นต้น"
ส่วนประเทศไทยนั้น ลิงค์ซีสส์ปิดสำนักงานแล้ว และกรรมการผู้จัดการของซิสโก้จะเป็นผู้ดูแลตลาดในเบื้องต้น
ก่อนการประชุมผู้บริหาร และประกาศนโยบายอย่างชัดเจนอีกครั้ง ทั้งจะมีทีมงานใหม่ รวมถึงพนักงานซิสโก้บางส่วนจะย้ายไปทำงานที่ลิงค์ซีสส์
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2546
|