"จีน" แชมป์ผู้ใช้บรอดแบนด์สูงสุดในโลก
จีน สวนกระแสรัฐคุมเข้มการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ไต่อันดับรั้งตำแหน่งประเทศที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์ดีเอสแอลมากที่สุดในโลก นักวิเคราะห์ระบุเหตุประชาชนฮิตเล่นเกมออนไลน์
อีกทั้งทางการสนับสนุนใช้งานเพื่อการศึกษา คาดทะลุ 20 ล้านคนได้ภายในสิ้นปีนี้
สำนักข่าวบีบีซี นิวส์
รายงานโดยอ้างผลสำรวจของสมาคมดีเอสแอล ฟอรัม ซึ่งระบุว่า ปีนี้จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ดีเอสแอลในจีน
เพิ่มขึ้น 2 เท่า คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ล้านคน
นายเดวิด เกรกเกน รองผู้อำนวยการสมาคมดีเอสแอล
ฟอรัม กล่าวว่า เป็น
"การเติบโตที่ไม่เคยมีใครคาดมาก่อน" แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานทั้งหมดในจีนเท่านั้น
หรือราว 1% ของจำนวนประชากรรวมทั้งหมด "การเติบโตอย่างชัดเจนของจีน นอกจากจะเป็นผลมาจากชุมชนผู้เล่นเกมออนไลน์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นแล้ว
ยังเกิดจากการที่ทางการสนับสนุนการใช้บรอดแบนด์เพื่อการศึกษาด้วย" นายเกรกเกน ให้ความเห็น และเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ
การเรียนรู้แบบสองทาง ซึ่งเด็กๆ จะช่วยกันทำการบ้านผ่านทางอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี
แม้ว่ารัฐจะเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่นายเกรกเกน มองว่า
จีนก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ และคาดว่า ยอดผู้ใช้จะทะลุ 20 ล้านคนได้ภายในสิ้นปีนี้
รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดีเอสแอลทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า
30 ล้านคน โดยตัวเลข ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547
มีผู้ใช้ดีเอสแอลทั่วโลกทั้งสิ้น 78 ล้านคน "ดูจากอัตราการเติบโตที่ระดับปัจจุบัน ทางเราคาดว่าภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ยอดรวมผู้ใช้ดีเอสแอลทั่วโลกน่าจะเกิน
100 ล้านคน" นายเกรกเกนให้ความเห็น
เขาบอกว่า อัตราการเติบโตของดีเอสแอลทั่วโลก "สูงเกินคาด"
เมื่อเทียบกับช่วงสี่ปีก่อน ซึ่งมีผู้ใช้ราว 1
ล้านคนเท่านั้น และกำลังจะทะลุหลัก 100 ล้านคน
ในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้
ปัจจัยที่ผลักดันให้การใช้งานดีเอสแอลขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือ ความต้องการใช้งานวิดีโอ, เกมออนไลน์,
การแลกเปลี่ยนไฟล์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง และกิจกรรมมัลติมีเดียรูปแบบอื่นๆ
ดีเอสแอล เป็นวิธีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตรูปแบบหนึ่ง โดยใช้สายโทรศัพท์ทองแดงมาตรฐาน
ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐ
ที่ต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโมเด็มเคเบิล ขณะที่อังกฤษใช้เอดีเอสแอล (Asymmetrical
Digital Subscriber Line)
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2547
|