จีนลุยตั้งมาตรฐานเทคโนฯชิพ "อาร์เอฟไอดี" ใหม่
ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะเร่งหามาตรฐานกลาง
จีน
เปิดศึกมาตรฐานเทคโนโลยีรอบใหม่ ประกาศพัฒนาระบบติดตามสินค้า "อาร์เอฟไอดี"
แข่งชาติตะวันตก หลังถูกวอล-มาร์ท
บีบติดตั้งป้ายไฮเทคในสินค้าส่งออกทุกชิ้น เผยหวังลดค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์ต่างชาติ
พร้อมระบุมีสิทธิกำหนดมาตรฐานโลก เหตุเป็นผู้ป้อนสินค้าอันดับหนึ่ง
หนังสือพิมพ์ดิ เอเชี่ยน
วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ประกาศตั้งกลุ่มประสานงาน
เพื่อร่างมาตรฐานเทคโนโลยีติดตามสินค้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ป้ายประจำตัวสินค้าระบบคลื่นความถี่วิทยุ" (radio frequency
identification- RFID) ตัวใหม่ ทั้งนี้ ป้ายสินค้าระบบอาร์เอฟไอดี
เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการค้าส่ง หรือค้าปลีก สามารถติดตามได้ว่า
ตู้ขนส่งสินค้า หรือกล่องพัสดุของตน กำลังอยู่ที่ตำแหน่งใดในเส้นทางขนส่ง
และคาดว่าจะมีการนำอุปกรณ์ตัวนี้ ไปติดตั้งลงในสินค้าที่วางจำหน่ายทั่วโลก
ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
นายเอ็ดเวิร์ด เจิง
ประธานบริษัทสปาร์คิซ อิงค์ ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่ง
เปิดเผยว่า ทีมเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญของจีน มีแผนเยือนสหรัฐ และญี่ปุ่น
ในเดือนหน้า เพื่อพบปะกับตัวแทนรัฐบาล และบริษัทที่สนับสนุนมาตรฐานชิพอาร์เอฟไอดีเวอร์ชั่นปัจจุบัน
ที่คาดว่าจะไม่สามารถทำงานร่วมกับชิพของจีนได้ สาเหตุที่รัฐบาลจีน
เริ่มดำเนินการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนามาตรฐานอาร์เอฟไอดีของตัวเอง เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ
วอล-มาร์ท สโตร์ อิงค์. และบริษัทเมโทร กรุ๊ป เอจี
แห่งประเทศเยอรมนี ได้เรียกร้องให้จีนติดตั้งชิพดังกล่าวลงในสินค้า
ที่ส่งออกนอกประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ผลิตจีน ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล
บริษัทวอล-มาร์ท นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็นสัดส่วนราว 70%
ของสินค้าทั้งหมด และทางบริษัทต้องการให้ผู้ผลิตต่างๆ
เริ่มติดชิพอาร์เอฟไอดีในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น ก่อนปี 2548
เพื่อใช้ในการติดตามตู้ขนส่งสินค้าต่างๆ
ระบบอาร์เอฟไอดี
ประกอบด้วยชิพคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ที่จะติดตั้งอยู่บนตู้ขนส่งสินค้า
และผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น โดยที่ชิพจะส่งสัญญาณวิทยุออกมา นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์สำหรับอ่านคลื่นสัญญาณเหล่านี้
และเครื่องแม่ข่าย ที่เป็นผู้เก็บข้อมูลสินค้าทั้งหมดเอาไว้ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ซึ่งนอกเหนือจากการใช้ตรวจสอบตำแหน่งสินค้าแล้ว คาดว่าในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีตัวนี้จะใช้ในการเก็บข้อมูลด้านพฤติกรรมการจับจ่าย
ของลูกค้าแต่ละรายได้
"ในที่สุดแล้ว
ชิพเหล่านี้ จะเปรียบเสมือนดีเอ็นเอของระบบพาณิชย์ทั่วโลก" นายเจิง กล่าว พร้อมเสริมว่า สินค้าส่งออกของจีน ที่มีมูลค่ารวมถึง 438,000
ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว
รวมถึงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าระดับโลก เปิดโอกาสให้จีนมีสิทธิกำหนดมาตรฐานชิพอาร์เอฟไอดี
"จีนอาจดำเนินการผิดพลาด หากไม่ยอมใช้มาตรฐานระหว่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการทั่วโลก
ก็จะตัดสินใจผิดพลาด หากไม่เลือกจีนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ" เขา กล่าว
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า
การกำหนดมาตรฐานชิพอาร์เอฟไอดี ยังต้องดำเนินการด้านอื่นๆ อีกมาก นับตั้งแต่การเลือกคลื่นความถี่ให้อยู่ในระดับเดียวกัน
และอุปกรณ์อ่านสัญญาณที่สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยปัจจุบัน สหรัฐและญี่ปุ่น ก็กำลังกำหนดช่วงคลื่นความถี่วิทยุ
สำหรับชิพอาร์เอฟไอดี ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้แก่ผู้ผลิต
ที่ต้องส่งสินค้าไปจำหน่ายยังทั้งสองประเทศ ที่ผ่านมา
จีนได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งมาตรฐานเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์จำนวนมหาศาล
ให้แก่บริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานเข้ารหัสเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไร้สายภายในประเทศ, มาตรฐานเครื่องเล่นดีวีดียุคหน้า, เครือข่ายมือถือ 3จี และเครือข่ายภายในบ้านระบบใหม่
ซึ่งบริษัทต่างชาติหลายแห่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เทคโนโลยีของจีนยังไม่มีประสิทธิภาพพอ
และเป็นเพียงแผนกีดกันทางการค้าวิธีหนึ่ง
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2547
|