มะกันจับตาจีนทุ่มลงทุนด้านไอที หวั่นกระทบค่ายยักษ์หากจีนผงาด
สหรัฐหวั่นจีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยี
แถมออกกฎกีดกันบริษัทต่างชาติ เตรียมผงาดขึ้นเป็นผู้นำระดับโลก
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานถึงประเด็นความขัดแย้งล่าสุดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตว่า
การที่จีนเริ่มเปลี่ยนทิศทางของนโยบายทางการค้า โดยหันมาทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีของตนมากขึ้นนั้น
อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่สหรัฐและจีนมีปัญหากันในเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีนมูลค่ามหาศาลและการผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์
ซึ่งสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการค้าของจีน
โดยจากการเปิดเผยของนายบรูซ พี.เมห์แลน
ผู้บริหารระดับสูงของ "computer systems policy project" และอดีตเจ้าหน้าที่วางแผนนโยบายด้านเทคโนโลยีของประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิลยู. บุช พบว่าจีนได้เริ่มวางนโยบายขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีของตนเองมากขึ้น
ซึ่งรวมถึงความพยายามในการพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ไร้สาย รูปแบบเทคโนโลยีเฉพาะสำหรับโทรศัพท์มือถือและเครื่องเล่นดีวีดีในอนาคต
และนโยบายภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์ของจีนมากกว่าต่างชาติ
ความกังวลที่บริษัทต่างชาติมีต่อการออกนโยบายของจีนเริ่มตึงเครียดมากขึ้นในเดือนธันวาคม
พ.ศ. 2546 ที่ผ่านมา หลังจากจีนประกาศว่าบริษัทผู้ผลิตชิปและคอมพิวเตอร์ต่างชาติที่ต้องการขายอุปกรณ์ไร้สายในประเทศจีนจะต้องใช้ซอฟต์แวร์ไขรหัส
(encryption software) ของจีน และต้องร่วมผลิตสินค้าดังกล่าวกับบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วของจีน
บริษัทเหล่านี้เกรงว่าตนอาจสูญเสียลิขสิทธิ์ทางปัญญาหากถูกบังคับให้ทำงานกับบริษัทของจีนซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจลักลอบเลียนแบบสินค้า
และยังมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าว่าจะแตกต่างกันหากต้องใช้ซอฟต์แวร์ไขรหัสของจีน
นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังไม่เห็นด้วยกันนโยบายภาษีของจีนที่เรียกเก็บภาษีชิปคอมพิวเตอร์นำเข้าสูงกว่าชิปที่ผลิตในจีนถึง
14 เท่า
บริษัทผู้ผลิตชิปของสหรัฐกล่าวว่า การเก็บภาษีนำเข้าในลักษณะดังกล่าวเป็นความลำเอียงทางธุรกิจเพราะเป็นการบังคับให้บริษัทต่างชาติต้องทำการผลิตและออกแบบสินค้าในจีนมากขึ้น
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ยืนยันว่าการกระทำของจีนเป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก
(WTO) ที่ห้ามมิให้ชาติต่างๆ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า
ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคืออุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี
"ไว-ไฟ" ซึ่งใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จีนกำลังพัฒนามาตรฐานของตนเองขึ้นมา
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2547
|