จีนใหม่ไอที (II)
กระทรวงอุตสาหกรรมสารสนเทศ (Ministry of Information
Industry : MII) เป็นชื่อที่รัฐบาลจีนใช้เรียกกระทรวงใหม่
ซึ่งมาจากการรวมกระทรวงโทรคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน กระทรวงทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล
(Regulatory body) กิจการไอที หรือไอซีที
(Information & Communications Technology) ของประเทศ
โดยมีภารกิจหลักอยู่ 3 ด้าน คือ
ด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (Manufacturing of Electronic
and Information Products), ด้านอุตสาหกรรมสื่อสารและซอฟต์แวร์ (Communications
& Software Industry) และ
ด้านส่งเสริมไอซีทีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Promotion of Informatization of
the National Economy and Social Services)
ได้ภาพกว้างๆ
แล้วก็ต้องเข้าใจในจุดประสงค์ของผู้นำจีน ผมพอสรุปจากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
MII เมื่อเร็วๆ นี้ได้ว่า ทุกอย่างที่กระทรวงดำเนินการก็เพื่อจะสนองนโยบายของรัฐบาลกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ
(Economic Development) หรืออีกนัยหนึ่ง เป้าอยู่ที่เศรษฐกิจ เป้ามิได้อยู่ที่ไอซีทีเอง
หันมาดูความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมสารสนเทศ ของจีนจะเห็นความหลากหลายในมาตรการ
ซึ่งขอบันทึกในรายละเอียดไว้สักนิดในที่นี้สัก 17 ข้อ
ที่มากเพราะกระทรวงเดียวกันนี้ดูแลทั้ง 3 เรื่องยักษ์ๆ คือ
ไอที สื่อสาร และกระจายเสียง หรือมัลติมีเดีย
เริ่มต้นด้วยการที่กระทรวงต้องทำหน้าที่ศึกษา
และวางนโยบายการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่กลยุทธ์ไปจนถึงแผนการสร้างอุตสาหกรรมสารสนเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ไอที และเครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งซอฟต์แวร์
พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง จะทำได้กระทรวงก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการยกร่างกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมข้างต้น รวมทั้งการยกร่างระเบียบ และความรับผิดชอบของผู้กำกับดูแล
กระทรวงยังต้องออกแบบแผนงานในการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารสาธารณะระดับชาติ ซึ่งรวมทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมภายในและระหว่างประเทศ
เครือข่ายวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งเครือข่ายเฉพาะที่ต้องทำการบริหารจัดการ เสร็จแล้วก็ต้องจัดให้มีนโยบายทางเทคนิค
กำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเข้าถึง (access) และการดูแลมาตรฐานต่างๆ
พอมีนโยบายแล้วก็ต้องรับผิดชอบการกระจาย และการบริหารจัดการทรัพยากรสื่อสารสาธารณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นวิทยุ ตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียม
การกำหนดระบบหมายเลขโทรศัพท์ ชื่อและที่อยู่โดเมนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการตรวจสอบและให้ใบอนุญาตการจัดตั้งสถานีวิทยุ
โดยป้องกันคลื่นรบกวนกันในอากาศ ลงมาถึงระดับตลาด
กระทรวงก็ต้องเป็นผู้กำกับดูแลตลาดบริการ ทั้งด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ
มีการให้ใบอนุญาตที่จำเป็น ควบคุมคุณภาพ ตั้งกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อความยุติธรรมในการแข่งขันของภาคเอกชน
เอื้อต่อการให้บริการอย่างทั่วถึง ซึ่งมีทั้งในแง่การเชื่อมต่อ (Interconnection),
การใช้งานร่วม (Interoperation) เพื่อประโยชน์ของรัฐและผู้บริโภค
มาถึงเรื่องค้าขาย กระทรวงก็ต้องเป็นผู้สร้างนโยบายภาษีอากร สำหรับการให้บริการสื่อสารและสารสนเทศ
ซึ่งรวมไปถึงค่าบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคมด้วย
กระทรวงยังต้องรับผิดชอบต่อตัวรัฐบาลเอง
โดยการวางแผน สร้าง และบริหารเครือข่ายเฉพาะของภาครัฐ
ซึ่งรวมไปถึงการสื่อสารในกรณีฉุกเฉิน หรือการบรรเทาอุบัติภัยทั้งปวง
หรือที่เรียกว่ากิจกรรมที่สำคัญยวดยิ่ง (Mission-critical Communications) และยังต้องรับผิดชอบความมั่นคงของเครือข่ายของประเทศอีกด้วย
พลวัตของไอซีทียังทำให้รัฐมนตรีกระทรวง MII ต้องเป็นผู้สร้างกลไกในการสร้างความเติบโตให้กับอุตสาหกรรมสารสนเทศ
ที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และของอุตสาหกรรม โดยคอยสอดส่องและชี้นำให้เกิดการปรับตัวในโครงสร้างอุตสาหกรรม
โครงสร้างผลิตภัณฑ์ผสมที่เรียกว่า Product Mix รวมถึงการปรับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจซึ่งยังมีอยู่อีกมากในจีน
พอมีเวลาหายใจเล็กน้อย รัฐมนตรีก็ต้องลงมาดูซิว่าจะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้อุตสาหกรรมของจีนทั้งทางด้านโทรคมนาคม
สารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์เติบโตได้อย่างไร
ซึ่งต้องหล่อเลี้ยงกันตั้งแต่ช่วยแก้ปัญหาทางเทคนิค การช่วยให้ภาควิจัยพัฒนาสามารถดูดซับ
และดัดแปลงเทคโนโลยี จนช่วยตัวเองได้ พ้นจากการเป็นประเทศนำเข้าสินค้าไปในที่สุด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2545
|