จีนรุกไทยเปิดเอฟทีเอ เครื่องไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์
จี้ศึกษาพฤติกรรมบริโภครายมณฑล
นักวิชาการแนะเตรียมความพร้อม 5 ด้าน บริหารต้นทุน โลจิสติกส์
เครือข่ายตลาด ตราสินค้า วิจัยและการพัฒนา
จีนเปิดฉากรุกไทยเปิดเสรีเอฟทีเอเพิ่มเติม เล็ง เจรจาให้ไทยลดภาษีสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทูตไทยในจีนแนะเตรียมความพร้อม พัฒนาคุณภาพสินค้าเจาะตลาดจีน ขณะที่นักวิชาการ เสนอให้ศึกษาพฤติกรรมบริโภค
พร้อมอาศัยเครือข่ายการตลาดภายในท้องถิ่นจีน หวังเจาะลึกลงรายมณฑล
นายดอน ปรมัตถ์วินัย
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวในงานสัมมนา "ภาคเอกชนไทยในตลาดเปิดของจีนยุคใหม่"
เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.)
ว่า เจ้าหน้าที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา รายการสินค้าที่จะนำไปเปิดเสรีเพิ่มขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี
(เอฟทีเอ)ไทย-จีน
หลังจากเปิดเสรีกลุ่มสินค้าผัก-ผลไม้ ไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งต้องดึงเอกชนเข้าร่วมให้ความเห็นมากขึ้น "ขณะที่จีนเอง
ได้แสดงความสนใจ ที่จะเจรจาให้ไทยเปิดเสรี สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นรายการต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จีนเริ่มเข้ามาหารือบ้างแล้ว"
นายดอน กล่าว
หลังเปิดเสรีกลุ่มผักและผลไม้
ได้มีเกษตรกรไทยจำนวนหนึ่ง ร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบ ที่ได้รับจากข้อตกลง อาทิ มีผลไม้จากจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในตลาดไทย
ขณะที่ปัจจุบัน สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีนเข้ามารุกตลาดไทยจำนวนมากเช่นกัน
เขากล่าวว่า ในการเข้าไปบุกตลาดจีน ผู้ประกอบการไทย จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า
ส่วนปัญหาที่เกิดจากการเปิดเสรีผักและผลไม้นั่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงแรกที่เริ่มเปิดเสรี
ไม่ใช่ฤดูกาลผลไม้ของไทย รวมถึงจีนมีพฤติกรรมการบริโภคต่างกับไทย
และข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำขึ้น มีเนื้อหาครอบคลุมเพียงการลดภาษีเท่านั้น
ไม่ได้ครอบคลุมถึงกฎระเบียบการค้าอื่นๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกีดกันการค้า
ด้าน รศ.ดร.สมภพ
มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นว่า แม้การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน จะขยายตัวมากขึ้น
แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปจีนมากที่สุด ยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ
ที่ต้องนำไปแปรรูปต่ออีกขั้น สินค้ากลุ่ม10 อันดับแรก
ที่ไทยส่งออกไปยังจีนมากที่สุด เรียงจากอันดับ 1 ถึง 10
ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยางพารา เมล็ดพลาสติก น้ำมันดิบ
เคมีภัณฑ์ ไอซี เหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก มันสำปะหลัง ไม้ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ
อาทิ สินค้าเพื่อการอุปโภค-บริโภค ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
มียอดส่งออกที่ไม่เติบโตมากนัก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง
ดร.สมภพ กล่าวว่า
จีนกำลังต้องการสินค้าวัตถุดิบ กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำจำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากประเทศที่ได้อานิสงส์การค้ากับจีนในระดับสูง
คือ ประเทศที่มีวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีแร่ธาตุ และก๊าซธรรมชาติเหลว จำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังมีมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกยางพารา และไม้ ส่วนรัสเซีย
และแคนาดา มีน้ำมันปริมาณมหาศาล ทั้งนี้ หากไทยต้องการประสบความสำเร็จในจีน
รวมถึงรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ ไทยจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคในจีน
ซึ่งแต่ละมณฑลจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป และควรอาศัยเครือข่ายการตลาด (Marketing
Network) ในจีน ที่รู้จักตลาดท้องถิ่นดีกว่า เขากล่าวว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องเร่งดำเนินการใน 5 มาตรการ คือ
การบริหารต้นทุน การบริหารด้านโลจิสติกส์ การบริหารด้านเครือข่ายตลาด การบริหารตราสินค้า
และการบริหารด้านการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งไทยต้องให้ความสำคัญกับจีนที่ปรับบทบาททางด้านเศรษฐกิจของตนเองอย่างรวดเร็วจากประเทศผู้รับการลงทุน
เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในประเทศอื่นแทน โดยสถานะของประเทศจีน ล่าสุดมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2547
|