จีนช็อกวงการไร้สาย หนุน 3จี มาตรฐานใหม่
บริษัทต่างชาติหวั่น หลังจีนส่อแววสนับสนุนมาตรฐาน
3จีใหม่ "ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ"
เล็งสร้างเครือข่ายไร้สายภายในประเทศ ชี้
ซ้ำเติมอุตสาหกรรมไร้สายอย่างหนัก เหตุบีบผู้ประกอบการทุ่มเงินลงทุนเพิ่มมหาศาล ขณะผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์อาจเป็นเครื่องมือต่อรอง
จีนเป็นตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับหนึ่งของโลก
โดยมีอัตราผู้ใช้บริการเครือข่ายไร้สายสูงถึง 180 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทุกรายต่างก็ติดตามการเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่แห่งนี้อย่างใกล้ชิด
ส่อเค้าเตรียมหนุนมาตรฐานใหม่
แต่นโยบายการวางเครือข่ายเทคโนโลยี 3จี ที่ทางรัฐบาลจีนประกาศสนับสนุนไปเมื่อเร็วๆ
นี้ ทำให้ผู้ผลิตต่างชาติพากันหวั่นเกรงว่า การแข่งขันในตลาดแห่งนี้อาจต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าที่คิด
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมือถือทั้งหลาย ทั้งบริษัทสหรัฐอย่างลูเซ่น เทคโนโลยีส์ และโมโตโรล่า
รวมทั้งบริษัทสัญชาติสวีเดน อย่างอีริคสัน หรือนอร์เทล เน็ตเวิร์คส์ ของแคนาดา
ได้ทุ่มเงินไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยี 3จี ที่แตกต่างกันระหว่างในทวีปอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ดี
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้แสดงท่าทีที่จะสนับสนุนเครือข่าย 3จี มาตรฐานที่สาม ที่มีชื่อว่า ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ (TD-SCDMA)
ขึ้นมาอีก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความระส่ำระสายในวงการผู้ผลิตมือถือต่างชาติมาก
เพราะหมายความว่าบริษัทเหล่านี้จะต้องจมเม็ดเงินไปอีกหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
ที่ยังไม่เคยมีการทดลองใช้มาก่อน และยังไม่มีโอกาสทางการตลาดที่แน่นอน สำหรับอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ในภาวะซบเซาอยู่แล้ว
ข่าวคราวเช่นนี้นับว่ามาได้ผิดจังหวะเวลาอย่างยิ่ง
หวั่นจมงบมหาศาล
นางโรส มิลเลอร์ ผู้อำนวยการแผนกจัดการด้านการตลาดประจำประเทศจีน
แห่งลูเซ่น เทคโนโลยีส์ยอมรับว่า ทางบริษัทยังไม่มีอุปกรณ์สำหรับเครือข่ายดังกล่าว
เนื่องจากได้เทงบประมาณไปในการพัฒนามาตรฐาน "ซีดีเอ็มเอ2000"
(CDMA2000) เครือข่าย 3จีของสหรัฐ
ที่คิดค้นโดยบริษัทควอลคอมม์ รวมทั้งมาตรฐาน "ไวด์แบนด์ซีดีเอ็มเอ"
(WCDMA) ของยุโรปไปแล้ว เช่นเดียวกับคู่แข่งรายอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจเครือข่าย
3จี ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น จนถึงปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตมือถือต่างก็ยังไม่ได้รับผลตอบแทนจากเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ลงทุนไปในเทคโนโลยีดังกล่าว
แต่ถ้าจีนตัดสินใจนำมาตรฐานที่ 3 มาใช้จริงๆ บริษัททั้งหลายก็จะต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นางมิลเลอร์ได้ออกมายืนยันว่า
ทางบริษัทยินดีที่จะพัฒนาอุปกรณ์มาตรฐานใดๆ ก็ตามที่สามารถเจาะตลาดจีนได้
ผู้รอดชีวิต
บริษัทโมโตโรล่า ผู้ผลิตมือถืออันดับสองของโลก
เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้พัฒนามาตรฐานทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ มาระยะหนึ่งแล้ว และหากจีนตัดสินใจใช้มาตรฐานนี้
ตนก็จะหันมาทุ่มแข่งขันในตลาดดังกล่าว ขณะที่บริษัทต่างชาติอีกแห่งหนึ่ง
ที่อาจได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการรายอื่นก็คือ ซีเมนส์
ซึ่งเป็นผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ อย่างจริงจัง
โดยทุ่มเงินค้นคว้าไปแล้วกว่า 200 ล้านดอลลาร์
และมีแผนที่จะลงทุนต่อไปอีกราว 49 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงปีหน้า
หากจีนตัดสินใจใช้มาตรฐานนี้จริง จะเป็นการกำจัดผู้ผลิตคู่แข่งในสหรัฐและยุโรปไปได้อย่างแน่นอน
นอกจากซีเมนส์เพียงบริษัทเดียว โดยในขณะนี้ โมโตโรล่าและลูเซ่น มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ2000 มากที่สุด ขณะที่โนเกียและอีริคสันจัดเป็นผู้นำในกลุ่มเทคโนโลยีไวด์แบนด์ซีดีเอ็มเอ
นายทิม ลุค
นักวิเคราะห์ด้านอุปกรณ์ไร้สายแห่งบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส กล่าวว่า เนื่องจาก
ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ เป็นมาตรฐานที่ใหม่มาก และพัฒนาโดยซีเมนส์เป็นหลัก ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นต้องประสบปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง"
กระนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 ต.ค.) รัฐบาลจีนได้จัดงานประชุมที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้า
และประกาศตั้งโครงการร่วมมือพัฒนามาตรฐานทีดี-เอสซีดีเอ็มเอขึ้น
เพื่อเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้ และนี่คือสถานการณ์ที่ยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียหวาดกลัวที่สุด
นายจอร์มา โอลิลลา หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทโนเกีย ได้เดินทางไปยังประเทศจีนหลายรอบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เพื่อล็อบบี้ให้จีนใช้มาตรฐาน 3จีของยุโรป ขณะที่นายโธมัส
จอนส์สัน โฆษกของบริษัท กล่าวว่า โนเกียยังไม่มีแผนผลิตโทรศัพท์สำหรับมาตรฐาน 3จีใหม่ในขณะนี้ พร้อมให้ความเห็นว่า
เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงไม่อยู่ในระดับที่ก้าวหน้าพอ และไม่เหมาะกับการใช้เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่
คู่แข่งเจ้าถิ่น
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตต่างชาติรายอื่นๆ ที่พยายามพัฒนาอุปกรณ์สำหรับใช้กับมาตรฐานของจีน
ก็จะต้องเผชิญการแข่งขันจากผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วยเช่นกัน บริษัทต้าถัง เทเลคอม เทคโนโลยี
แอนด์ อินดัสตรี้ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ลงทุนพัฒนามาตรฐานนี้ไปแล้วกว่า 96 ล้านดอลลาร์ และยังมีงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว
120 ดอลลาร์เพื่อใช้ในปีหน้า ซึ่งนายโจว ฮวน ประธานบริษัท
กล่าวว่า งบประมาณส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน
และถึงแม้ว่าจีนจะตกลงใช้มาตรฐานทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ จริง จีนก็จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้
บริษัทซีเมนส์และต้าถังก็ยอมรับว่า มาตรฐานดังกล่าวมีความก้าวหน้าน้อยกว่าเทคโนโลยีอีก
2 ระบบ ซึ่งพร้อมที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว
โดยซีเมนส์ คาดประมาณว่า ระบบทีดี-เอสซีดีเอ็มเอที่สมบูรณ์นั้น
จะสามารถเปิดตัวได้จริงในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่ต้าถังกำหนดไว้ที่ช่วงปลายปี 2547
เครื่องมือต่อรอง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางราย
ก็ยังไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจีนจะเอาจริงกับนโยบายมาตรฐานใหม่ขนาดไหน
"ผมรู้สึกว่า นี่เป็นกลยุทธ์ที่จีนใช้ต่อรองเพื่อให้ผู้ผลิตต่างชาติเล่นเกมอย่างยุติธรรม"
นายลุค แห่งเลห์แมน บราเธอร์ส กล่าว พร้อมเสริมว่า การหันไปใช้มาตรฐานใหม่ดูจะไม่สมเหตุสมผลนัก
หากจีนต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ และเปิดบริการ 3จีโดยเร็ว
นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่จะทำให้ผู้ใช้มือถือในประเทศอื่นๆ ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ในจีนได้
และผู้บริโภคชาวจีนก็ไม่สามารถใช้มือถือในต่างประเทศได้เช่นกัน "ผมคิดว่าจีนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานโลก มากกว่าพัฒนาเทคโนโลยีที่ตนใช้อยู่คนเดียว"
นายลุค กล่าว
ขณะที่นายพอล ซางาวะ
นักวิเคราะห์อุปกรณ์ไร้สายบริษัทแซนฟอร์ด ซี. เบิร์นสไตน์ ให้ความเห็นว่า "ผมไม่คิดว่าจีนจะทำร้ายผู้ผลิตในประเทศของตัวเอง โดยการใช้มาตรฐานเฉพาะที่ไม่มีใครในโลกใช้กัน
เพราะหมายความว่าจีนเองก็จะไม่มีตลาดสำหรับส่งออก"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที)
ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545
|