คลอด! อภิโปรเจ็กต์ CDMA ครม.ผ่านฉลุยทุ่ม 1.3 หมื่นล.
โปรเจ็กต์อภิมหาอมตะ
"ซีดีเอ็มเอ" ภูธร ผ่าน "ครม." เรียบร้อยแล้ว อนุมัติลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ขยายเครือข่ายมือถือครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ "กสทฯ" พร้อมลุยเต็มสูบ ชูบริการ "มัลติมีเดีย" สร้างจุดขาย-ดูดลูกค้าเข้าระบบ 1 ล้านรายภายใน 4 ปี พร้อมประสานความร่วมมือกับ "ฮัทช์"
รุกตลาด
นายจักรภพ
เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา
ได้อนุมัติโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000-1X ส่วนภูมิภาค
ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
เสนอมา โดยใช้เงินลงทุนจากเงินรายได้ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวม 13,430 ล้านบาท
เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถรองรับการใช้งานของผู้รับบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ
40 ของประเทศ เพิ่มเติมจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล
และจังหวัดใกล้เคียง 10 จังหวัด โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะจัดซื้อชุมสายวิทยุเซลลูลาร์ขนาดไม่ต่ำกว่า
2,300,000 เลขหมาย และสถานีวิทยุเครือข่ายระบบ CDMA วงเงิน 11,205 ล้านบาท พร้อมทั้งอัพเกรด และขยายสถานีวิทยุเครือข่ายพร้อมอุปกรณ์ประกอบที่จำเป็นเป็นเงิน
1,010 ล้านบาท อีก 1,215 ล้านบาท
เป็นการกันเงินสำรองสำหรับโครงการ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความเห็นและตั้งข้อสังเกตประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบันธุรกิจโทรศัทพ์เคลื่อนที่มีการแข่งขันกันสูงมาก บริษัท กสท โทรคมนาคม
จำกัด (มหาชน) ควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างใกล้ชิด
และปรับกลยุทธ์การตลาดให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวใช้เงินค่อนข้างสูง
และยังขาดความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นควรสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ผลิตอุปกรณ์รายใหญ่จากต่างประเทศ
และในประเทศ และบริษัท กสท โทรคมนาคม ควรกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานตามระยะเวลาหรือพื้นที่เครือข่าย
การกำหนดงบประมาณและการตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อให้การบริหารโครงการและงบประมาณมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เคยมีประเด็นอภิปรายในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
คณะที่ 7 ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมาย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ระบุว่าอาจมีปัญหาด้านข้อกฎหมายที่ทำให้บริษัท กสท
โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถดำเนินโครงการได้นั้น
ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทได้รับใบอนุญาตไว้แล้วตามใบอนุญาตเดิม และเป็นการใช้คลื่นความถี่เดิมมิได้จัดสรรคลื่นความถี่
ส่วนกรณีการออกใบอนุญาตตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญ
ญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ก็ถือเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งขณะนี้ไม่อาจวินิจฉัยได้
สำหรับแผนธุรกิจของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ
ซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาคของ กสทฯที่นำเสนอต่อ ครม.นั้นได้คาดการณ์ตัวเลขผู้ใช้บริการไว้ด้วยว่าจะสามารถมีฐานลูกค้าถึง
1 ล้านรายได้ในปี 2551
และมีรายได้รวมจากการให้บริการในปี 2548 จำนวน 600 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 6 พันล้านบาทในปี 2551 สำหรับจุดแข็งของระบบซีดีเอ็มเอ คือ ประสิทธิภาพในการรองรับบริการด้านมัลติมีเดียรูปแบบต่างๆ
ที่เหนือกว่าระบบอื่นในตลาดปัจจุบัน ซึ่งกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ กสทฯ คือ
การประสานความร่วมมือกับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ตัวแทนทางการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ
ภายใต้แบรนด์ "ฮัทช์" อย่างใกล้ชิดทั้งด้านการตลาด,
เครือข่าย, การพัฒนาบริการ
และการใช้ตราสินค้าร่วมกัน เป็นต้น
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2547
|