จับจุดแข็งไทยผนึกทุนสิงคโปร์ 13 บริษัทเล็งร่วมทุน เปิดตลาดชิ้นส่วนรถ
ไทยจับมือสิงคโปร์
พัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เร่งหาจุดแข็งจุดอ่อนเปิดทางร่วมทุน
คาดเห็นรูปธรรม ใน 4 เดือน
นายฟรานซิส เทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายเทคโนโลยี
สำนักงานธุรกิจระหว่างประเทศ ประเทศสิงคโปร์ (Deputy Director International Enterprise Singapore) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ในงานประชุมเพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์
สิงคโปร์ และการจัดทำ สวอต อนาไลซิส (SWOT Analysis) ระหว่างไทย
และสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดยกลุ่มธุรกิจเอกชนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ของประเทศไทย
ว่า การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีอุตสาหกรรมสาขาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์
จากสิงคโปร์มาจัดโรดโชว์ขึ้นในประเทศไทย หลังจากได้มีการพูดคุยถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน
ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ มาแล้ว 2 ครั้ง
ในเดือนสิงหาคม และกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยการจัดโรดโชว์ครั้งนี้มีผู้ประกอบการระดับแนวหน้า
และส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เข้าร่วมทั้งสิ้น 13 ราย เช่น เอมเทค เอ็นจิเนียริ่ง,ซันวา พลาสติก
อินดัสตรี และสปินเด็กซ์ อินดัสตรีส์ เป็นต้น
นายเทย์ กล่าวต่อว่า
นักธุรกิจกลุ่มนี้มีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในไทย เนื่องจากเห็นศักยภาพในหลายๆ
ด้าน และจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการชาวไทยแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงทุนในอีก
3-4 เดือนข้างหน้า "สิงคโปร์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในต่างประเทศ
เนื่องจากสิงคโปร์เองมีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น พื้นที่การก่อตั้งโรงงาน และค่าแรงที่ค่อนข้างสูง
จึงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกไปลงทุนต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะไปลงทุนที่ประเทศจีน
และมาเลเซีย แต่ในขณะนี้กำลังพยายามหาตลาดและแหล่งลงทุนใหม่ๆ"
นายขัตติยา ไกรกาญจน์
ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการร่วมกันหาแนวทางความร่วมมือด้านการลงทุน
โดยทั้ง 2 ประเทศได้ทำการศึกษาจุดแข็งจุดด้อยโอกาส และภัยคุกคามของแต่ละฝ่าย โดยไทยมีข้อดีที่ค่าแรงต่ำ
มีการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอินโดจีน ส่วนสิงคโปร์มีจุดแข็งที่เทคโนโลยีการผลิต
การบริหารการจัดการ และการวางแผนการตลาดในระดับนานาชาติ นายขัตติยา กล่าวอีกว่า
การสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ ก็เป็นจุดสำคัญในการผลักดันความร่วมมือให้เร็วขึ้น
รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจร่วมกัน เช่น การเปิดกรีนเลน (Green
Lane) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าผ่านกรมศุลกากรได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
รวมไปถึงการเปิดศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2545
|