นักซอฟต์แวร์ไทย เจาะตลาดระบบความปลอดภัย "ไบโอเมทริกซ์"
"
ตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปี
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย พัฒนาระบบเข้าออกสำนักงานผ่านลายนิ้วมือ-ม่านตา ลบจุดอ่อนของปัญหาความปลอดภัยองค์กรที่มีช่องโหว่จากการใช้รหัสผ่าน
(พาสเวิร์ด) หวังเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นใน
3 ปี หลังกองทุนวรรณโดดร่วมหุ้น 10
ล้านบาท
นายพลภัทร์ อุดมพล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
บริษัท ไอที เวิร์คส์ จำกัด ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ออกสู่ตลาดมากขึ้นหลัง บลจ.
วรรณ เข้ามาร่วมลงทุน 10 ล้านบาท
โดยบริษัทจะมุ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านไบโอเมทริกซ์ ในการพัฒนาระบบยืนยันตัวบุคคลภายในองค์กร
(ไอเดนติตี้ แมนเนจเม้นท์) เนื่องจากมองว่าการใช้คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน
มักประสบปัญหาระบบความปลอดภัย (คอมพิวเตอร์ ซิเคียวริตี้)
โดยการใช้รหัสผ่าน (พาสเวิร์ด) เป็นจุดอ่อนที่สุดของผู้ใช้ในองค์กร
ล่าสุด บริษัทได้นำเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ มาใช้พัฒนาระบบการลงเวลาทำงานด้วยลายนิ้วมือบนพีซี
แทนระบบตอกบัตรและเครื่องรูดบัตร โดยองค์กรที่นำไปใช้จะมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับระบบลงเวลาแบบเดิม
ขณะที่ การใช้ลายนิ้วมือจะป้องกันการลงเวลาตอกบัตรหรือรูดบัตรแทนกันได้ 100% ทั้งนี้
ปัจจุบันระบบตอกบัตร จะมีราคาระดับ 20,000 บาทขึ้นไป และต้องเสียค่าทำบัตรใหม่ต่อปี
ขณะที่ระบบลงลายนิ้วมือที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดว์สจะไม่เกิน 20,000 บาท ระบบประมวลผลเร็ว 20,000 นิ้วต่อวินาที มีอัตราผิดพลาดไม่เกิน
100,000 คน ระบบผิดพลาดไม่เกิน 1 คน
"คาดว่าในอนาคต 1-2
ปีข้างหน้าจะแพร่หลายมากขึ้น จากราคาที่ปรับลดลง โดยมีการใช้ลายนิ้วมือแทนกดปุ่มแทนกุญแจรถยนต์
การปลดล็อกตู้เซฟ เป็นต้น " นายพลภัทร์ กล่าว
ประยุกต์ใช้ในสถานบริการ
พร้อมกันนี้ เขายังมองถึงการประยุกต์ใช้ระบบดังกล่าว
สำหรับใช้ในการเข้าออกสถานที่ต่างๆ (แอ็คเซส คอนโทรล) โดยใช้ระบบลายนิ้วมือตรวจสอบ
เมื่อต้องการเข้าไปใช้บริการโดยเฉพาะสถานที่ซึ่งรับเฉพาะสมาชิก (เมมเบอร์คลับ) ได้แก่ โรงแรม สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร รวมทั้ง
เทคโนโลยีใช้ลายนิ้วมือในการเข้ารหัสข้อมูล (Encrypt) เพื่อป้องกันผู้ใช้งานคนอื่นๆ
จากการเรียกดู ข้อมูลสำคัญ เช่น อีเมล ข้อมูลการเงิน ข้อมูลในการใช้อินเทอร์เน็ต
และไฟล์เอกสารต่างๆ ในระบบคอมพิวเตอร์องค์กรได้ ทางด้านการทำตลาดนั้น
จะผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ เพื่อกระจายฐานลูกค้าให้ครอบคลุม
ขณะเดียวกัน ก็จะเสนอการพัฒนาระบบตามความต้องการให้กับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น การจัดทำจุดลงเวลาเข้าออก
(คีออส) ให้กับรัฐวิสาหกิจบางแห่ง
พัฒนาระบบม่านตา-รูปหน้า
นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาความเป็นไปได้
ในการพัฒนาโปรแกรมอ่านลายม่านตาด้วย โดยระบบจะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างบุคคลจากเส้นเลือดฝอยรอบดวงตา
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในอีกประมาณ 6 เดือนนี้ แต่ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคเรื่องราคาเครื่องอ่าน
ที่ยังค่อนข้างสูงถึงกว่า 20,000 บาท ตลอดจนการพัฒนาระบบจดจำใบหน้า
(Face Recognition) ที่น่าจะสามารถประยุกต์ใช้ระบบเข้าอาคาร
เพื่อดูรูปใบหน้าบุคคลต้องห้ามได้
ส่งออกระบบบริหาร บ.ทัวร์
นายพลภัทร์ กล่าวว่า
ล่าสุดบริษัทได้ลงนามสัญญามูลค่า 10 ล้านบาท กับบริษัทนำเที่ยว "แอลทียู" ของเยอรมนี
ซึ่งจะนำซอฟต์แวร์บริหารบริษัทนำเที่ยว "Travel Works" ไปใช้ในทุกสาขาทั่วโลก หลังจากใช้ในสำนักงาน ที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก
"แม้จะดูเหมือนว่ามูลค่าของไลเซ่นจะไม่สูงนัก แต่บริษัทจะได้รับรายได้จากค่าบริการติดตั้ง
และบำรุงรักษาระบบ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าไลเซ่นด้วย " นายพลภัทร์
กล่าว
สำหรับระบบดังกล่าว จะสนับสนุนการจองสายการบิน
และห้องพักแบบอัตโนมัติ โดยซอฟต์แวร์ของบริษัทจะเชื่อมโยงกับระบบของบริษัท
กาลิเลโอ ซึ่งให้บริการรับจองบัตรโดยสารเครื่องบินออนไลน์
พร้อมออกตั๋วและตัดเงินได้ทันที "เป้าหมายระยะยาวแล้ว
คาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย จะใช้เวลา 3 ปีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
" นายพลภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม
2546
|