มะกันพัฒนาแบตเตอรี่จิ๋วใช้งาน 50 ปี
นิวยอร์ก - นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ
พัฒนาแบตเตอรี่จิ๋ว อาศัยพลังงาน จากสารกัมมันตภาพรังสีระดับอ่อน
ระบุให้พลังงานไฟฟ้าปริมาณต่ำได้นานถึง 50 ปี พร้อมเผยเตรียมนำไปใช้
ในอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
เวบไซต์นิว ไซน์แอนทิสต์ดอทคอม รายงานว่า
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ได้พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่จิ๋ว ซึ่งอาศัยพลังงานจากสารไอโซโทป
กัมมันตภาพรังสี พร้อมเผยอาจสามารถให้พลังงานไฟฟ้าแก่อุปกรณ์ขนาดเล็ก
หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้นานถึง 50 ปี
นายอามิล ลาล
นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กรุงนิวยอร์ก ผู้คิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าว
เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ตัวนี้ จะใช้พลังงานจากสารไอโซโทป กัมมันตภาพรังสี นิคเคิล-63 "เราอาจสามารถสร้างระบบตรวจจับระบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์
ที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำไปติดตั้งในตึก หรือแม้แต่ในร่างกายมนุษย์ได้"
นายลาล กล่าว พร้อมเสริมว่า แบตเตอรี่ดังกล่าว
สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ชนิดใดก็ตาม ที่ต้องการแบตเตอรี่เพียงเล็กน้อย
เป็นระยะเวลานาน และเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถนำมาชาร์ตไฟได้ตามปกติ นอกจากนี้ การใช้สารไอโซโทปที่ปล่อยรังสีเบต้า
ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีที่มีพลังงานต่ำที่สุด ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีความปลอดภัยพอที่จะนำไปฝังไว้ในร่างกาย
ทั้งนี้ แบตเตอรี่ดังกล่าว
ประกอบด้วยแผ่นทองแดงขนาดบาง ที่วางไว้เหนือชั้นสารนิคเคิล-63
โดยสารไอโซโทปนิคเคิลเหล่านี้จะปล่อยอนุภาคเบต้า เช่น อิเล็กตรอน ออกมา
ขณะที่ค่อยๆ สลายตัวไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แผ่นทองแดงมีสถานะเป็นประจุลบ ส่วนชั้นนิคเคิลที่ปล่อยอิเล็กตรอนออกไป
จะมีสถานะเป็นประจุบวก ทำให้แผ่นทองแดงเริ่มงอตัวจนกระทั่งสารทั้งสองสัมผัสกัน
จากนั้น อิเล็กตรอนจะถูกปล่อยออกจากแผ่นทองแดงไปยังชั้นนิคเคิล และก่อให้เกิดกระบวนการปล่อยพลังงานไฟฟ้าขึ้นโดยไม่สิ้นสุด
ในปัจจุบัน ทีมวิจัยได้พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ที่มีขนาดเพียง 5 ลูกบาศก์มิลลิเมตรสำเร็จแล้ว อุปกรณ์ต้นแบบสามารถปล่อยไฟฟ้าได้เพียง 2-3 มิลลิวัตต์ แต่สามารถให้พลังงานได้นานหลายสิบปี โดย นายลาล คาดว่าแบตเตอรี่ตัวนี้สามารถให้พลังงานได้นานอย่างน้อย
50 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาครึ่งหนึ่งของช่วงอายุสารนิคเคิล
นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มเสนอให้นำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960
ซึ่งเป็นช่วงที่การค้นคว้าด้านพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาสูงสุด
แต่แนวคิดดังกล่าวถูกยับยั้งไป เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมีความกังวลด้านปัญหาความปลอดภัย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2545
|