แบงก์เอสเอ็มอีเตรียมปล่อยวงเงินกู้ซอฟต์แวร์ 30%
ดีเดย์สรุปเกณฑ์แปลงซอฟต์แวร์เป็นทุนพรุ่งนี้ (24 เม.ย.)
ธนาคารเอสเอ็มอี (ธพว.) ตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อ
30% ขณะ บสย.เตรียมจ่าย 40% ขานรับเกณฑ์แปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่เอทีเอสไอ และกระทรวงไอซีทีมีกำหนดชี้แจงผู้ประกอบการ
24 เม.ย.นี้ แย้มผลิตภัณฑ์ที่วางตลาดแล้ว
มีโอกาสได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อก่อน ป้องกันปัญหาเอ็นพีแอล
พร้อมเตรียมวางมาตรการร่วม บสย.ประกันความเสี่ยงหนี้สูญ
นายสำราญ ภูอนันตานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
(ธพว.)
กล่าวว่า ธพว.พร้อมสนับสนุนโครงการแปลงสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เป็นทุน
ซึ่งล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
สรุปหลักเกณฑ์แล้ว และเตรียมนำเข้าที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ
ร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 100 ราย ในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.)
โดยในส่วนของ ธพว.อนุมัติวงเงินสินเชื่อ ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สูงสุด
30% ของวงเงินสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม
ในเบื้องต้นคงกำหนดคุณสมบัติผู้ขอกู้ ที่มีผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์วางจำหน่ายในตลาดแล้วมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่วางตลาด
หรือยังเป็นเพียงโครงการอยู่
ขณะที่ซอฟต์แวร์ที่ยังไม่วางตลาด
หรือเป็นโครงการจะต้องใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา ที่มีรายละเอียดซับซ้อนกว่า
เพราะยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าจะมีรายได้เท่าใด ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะหนี้สูญหรือหนี้เสียค่อนข้างมาก
จึงจะเจรจากับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หาแนวทางลดความเสี่ยงร่วมกันต่อไป "ตามสูตรทางการเงินแล้ว
โดยทั่วไปโครงการที่ขออนุมัติสินเชื่อ หากยังไม่มีความชัดเจนดีพอ
มีโอกาสที่สถาบันการเงินจะพบหนี้สูญประมาณ 7 ใน 10 โครงการที่ขอวงเงินมา" นายสำราญกล่าว พร้อมกันนี้
เขาเสนอแนะทางออกสำหรับภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า ควรมีหน่วยงานกลางขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน
ถึงหลักเกณฑ์การประเมินสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ตลอดจนประเมินผลิตภัณฑ์แต่ละตัวที่นำมาขอวงเงินสินเชื่อ
เช่น เอทีเอสไอ, กระทรวงไอซีที, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) รวมถึงสถาบันการเงิน
ใช้ 4 หลักเกณฑ์ประเมิน
ด้านนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ
อุปนายกสมาคมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และหนึ่งในคณะทำงานหลักการแปลงสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เป็นทุน
กล่าวว่า จะมีการนำเสนอแนวทางและหาข้อสรุปเกณฑ์แปลงทรัพย์สินซอฟต์แวร์เป็นทุน
ร่วมกับ ธพว., บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเวิร์คช็อป "การแปลงสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เป็นทุน" ในวันพรุ่งนี้
(24 เม.ย.) โดยการพิจารณาประเมินมูลค่าสินทรัพย์ซอฟต์แวร์มี
4 หลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี 2.ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ 3.ผู้ประกอบการ และ 4.อื่นๆ โดยคณะกรรมการจะประเมินซอฟต์แวร์รูปแบบผลิตภัณฑ์และประเภทโครงการในการนำเสนอขอกู้เงิน
ยกตัวอย่างเช่น วิธีการประเมินทางเทคโนโลยี จะพิจารณาจากเทคนิคใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีที่มาจากงานวิจัยและพัฒนา
ซึ่งหากเป็นงานวิจัยใหม่ๆ มีผลต่อสังคมโดยรวม ก็จะได้คะแนนประเมินสูง
"วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อหรือตีมูลค่าซอฟต์แวร์ให้นำมาเป็นสินทรัพย์
ใช้ค้ำประกัน เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากต้องการสร้างแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ
นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของซอฟต์แวร์ไทย" นายพิพัฒน์กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการไอที กล่าวว่า คณะทำงานได้เจรจาเบื้องต้นกับ บสย. เพื่อให้เปิดกว้างการขอวงเงินกู้ได้ประมาณ 40%
ของวงเงินสินเชื่อที่ขอ ทั้งนี้
รัฐบาลตั้งเป้าหมายเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจาก 25,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท ในปี 49
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2546
|