มองผ่านความสำเร็จ "บังกาลอร์" สู่ซอฟต์แวร์ปาร์ค (แบบไทยๆ)
เอกชนต่อเอกชนจุดสานฝันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
กิ่งกาญจน์ ตรียงค์
kingkan@nationgroup.com
ยอดรายได้ซอฟต์แวร์ส่งออกของอินเดีย
มูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมานั้น
ยิ่งช่วยตอกย้ำความสำเร็จตำแหน่งผู้นำของ "บังกาลอร์"
ในอุตสาหกรรมนี้ยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากความโด่งดังในฐานะที่ได้รับการขนานนามเป็น "ซิลิกอน
วัลเล่ย์ แห่งเอเชีย" เทียบเคียงกับแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ระดับโลก
"ซิลิกอน วัลเล่ย์" สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน "บังกาลอร์" เมืองหลวงขนาด 368 ตารางกิโลเมตร ของรัฐคาร์นาทากะ ซึ่งอยู่ตอนใต้ของอินเดีย
มีประชากรประมาณ 6 ล้านคนนั้น เป็นแหล่งรวมบริษัทด้านไอที และซอฟต์แวร์นับพันบริษัท
และสร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ให้กับอุตสาหกรรมส่งออกซอฟต์แวร์ของอินเดีย
ด้วยยอดเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 25% เมื่อปีที่ผ่านมา เทียบกับการขยายตัวของตลาดซอฟต์แวร์รวมทั่วโลก
อยู่ระดับประมาณ 20% เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีมาตรการหนุนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาด
พร้อมแนะไทยสานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนเห็นผลชัดเจนกว่าผ่านรัฐ ทั้งเตรียมพร้อมก้าวต่อไปมุ่งตอบรับแนวโน้มเทคโนโลยี
และความต้องการใหม่ๆ ในตลาดไอทีระดับโลกขยายสู่การพัฒนาด้านมัลติมีเดีย
และแอนิเมชั่น ตลอดจนไบโอเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพเพียงพอ
จากเคยประสบวิกฤติภาวะขาดแคลนอาหารในอดีต
ตั้งเป้าโตแซงหน้าตลาดโลก
โดย นายเจ.ปาทาสารัตถี ผู้อำนวยการร่วม ซอฟต์แวร์เทคโนโลยีปาร์ค ออฟ อินเดีย
(STPI) หนึ่งในซอฟต์แวร์ปาร์ค จำนวน 36
แห่งของอินเดีย กล่าวว่า ปีนี้เขาคาดการณ์เติบโตของยอดส่งออกซอฟต์แวร์จากอินเดียไว้
25-30% เลยทีเดียว ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันมีการจัดทำ SWOT
Analysis เกี่ยวกับจุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส และปัจจัยคุกคามสำหรับอนาคตของซอฟต์แวร์จากอินเดีย ว่า จะไม่ได้ประโยชน์จากต้นทุนด้านบุคลากรอีกต่อไป
ท่ามกลางคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามามากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากไอร์แลนด์, รัสเซีย หรือจีน แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า
ตลาดที่เติบโตขึ้น จะทำให้ยังมี "ที่ว่าง" สำหรับคู่แข่ง แต่ด้วยศักยภาพของบุคลากร
และผลิตภัณฑ์ของบริษัทไอทีประเทศแห่งนี้แล้ว จะยังคงทำให้พวกเขาเป็น "ผู้นำ" ในตลาดโลกต่อไป พร้อมกันนี้
เขาก็ย้ำด้วยว่า ความสำเร็จของซอฟต์แวร์จากอินเดียนั้น ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญของสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกับสหรัฐอเมริกา
หรือความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษของประชากรของชาตินี้เท่านั้น
หากแต่ปัจจัยสนับสนุนข้อสำคัญที่สุดนั้น
เริ่มตั้งแต่นโยบายเปิดกว้างทางการค้าของรัฐบาลอินเดียในยุคปี ค.ศ.1991 ซึ่งต้องการสร้างความคล่องตัว
และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคธุรกิจ ทั้งระดับภายในประเทศและการส่งออก
ด้วยการออกนโยบาย และผ่อนคลายกฎระเบียบจูงใจให้เกิดการลงทุนอย่างมากมาย
รวมถึงมาตรการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ และไม่ว่ารัฐบาลของประเทศนี้จะเปลี่ยนไปแล้วกี่ชุด
แต่นโยบายข้างต้นยังได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบัน เมื่อความต้องการใช้ไอทีในประเทศเริ่มเพิ่มมากขึ้นตามกระแสเศรษฐกิจโลก
รัฐบาลก็ยังมีนโยบายสนับสนุน ด้วยการอนุญาตให้บริษัทไอทีที่มุ่งส่งออกเป็นหลัก สามารถป้อนผลิตภัณฑ์ให้กับตลาดในประเทศได้
เป็นมูลค่าไม่เกิน 50% ของยอดส่งออกในปีก่อนหน้านี้
ภายใต้สิทธิประโยชน์เท่าเดิม "สำหรับหน่วยงานแห่งนี้
ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1991 เช่นกัน โดยเราจะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจทุกอย่างให้กับสมาชิก ทั้งพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน
ที่รวมถึงด้านระบบสื่อสาร ซึ่งทำให้บริษัทไอทีรายเล็กๆ
สามารถทุ่มเทกับการทำธุรกิจของเขาได้เต็มที่ ไม่ต้องพะวงกับการลงทุนจำนวนมากๆ
ในสิ่งเหล่านี้ แต่เสียค่าใช้จ่ายให้เราเท่าที่เขาใช้งาน"
ทั้งนี้
เขายังยกตัวอย่างด้วยว่า ทั้งอินโฟซิส และวิโปร (WIPRO) ที่เป็นบริษัทส่งออกซอฟต์แวร์อันดับ
1 และ 2 ของประเทศ ก็เคยมีสำนักงานเป็นห้องเล็กๆ
อยู่ที่นี่มาแล้ว ก่อนจะใหญ่โตติดอันดับโลกอย่างทุกวันนี้
ปัจจุบัน
มีบริษัทที่เป็นสมาชิกของซอฟต์แวร์ ปาร์ค ที่บังกาลอร์ จำนวน 116 แห่ง และในจำนวนนี้เป็นบริษัทข้ามชาติถึง 68%
ขณะที่ส่วน "อิเล็กทรอนิกส์ ซิตี้" ซึ่งเป็นโซนที่รัฐบาลจัดสรรไว้เป็นเสมือนนิคมอุตสาหกรรมไอทีนั้น มีบริษัทเข้ามาตั้งแล้วไม่ต่ำกว่า
300 แห่ง และในเร็วๆ นี้อาจมีไมโครซอฟท์ตามมาด้วย
เล็งปั้นยอดส่งออกฮาร์ดแวร์เพิ่ม
ด้าน นายเอช.เอ นาการาจา ราโอ ผู้บริหารระดับภูมิภาค สมาพันธ์ส่งเสริมการส่งออกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
(ESC) ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอินเดีย
กล่าวว่า หน่วยงานแห่งนี้ ได้รับการจัดตั้งเพื่อสนับสนุนการส่งออกทั้งฮาร์ดแวร์
ซอฟต์แววร์ และผลิตภัณฑ์สื่อสารโทรคมนาคม
โดยมูลค่าส่งออกรวมเมื่อปีที่ผ่านมาจำนวน
10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น คิดเป็นสัดส่วนของซอฟต์แวร์ถึง 8.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะด้านโทรคมนาคมจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาด
"กล่าวได้ว่า มาตรฐานซีเอ็มเอ็ม (Capability Maturity
Model) ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการพัฒนาซอฟต์แวร์
นับเป็นจุดแข็งของเรา โดยในจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้รับมาตรฐานระดับนี้ 70 แห่งทั่วโลก มีสัดส่วนถึง 46 บริษัทที่เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อินเดีย
และจากจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทในบังกาลอร์ถึง 30 แห่ง"
นายราโอ กล่าว สำหรับบทบาทของหน่วยงานแห่งนี้
จะสนับสนุนตั้งแต่การกฎระเบียบการจัดตั้งบริษัท, การจดทะเบียน,
ด้านภาษี ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางการค้า ซึ่งรวมถึงการประสานกับรัฐบาล
และภาคธุรกิจในประเทศคู่ค้า และประเทศเป้าหมาย เพื่อจัดให้มีการพบปะระหว่างนักธุรกิจของทั้ง
2 ประเทศ
"แอนิเมชั่น-ไบโอเทค" ก้าวต่อไป
สำหรับก้าวต่อไปในตลาดโลกของซอฟต์แวร์อินเดียนั้น
ผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กรที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน
และสร้างอนาคตให้กับผู้พัฒนาในประเทศ กล่าวว่า แม้ความหลากหลายของซอฟต์แวร์ที่พัฒนา
และส่งออกไปจากที่นี่ ดูเหมือนจะครอบคลุมแทบทุกด้าน แต่พวกเขาก็ยังมองถึงการพัฒนาเพื่อตอบรับกับแนวโน้มเทคโนโลยี
และความต้องการใหม่ๆ ในตลาดไอทีระดับโลกต่อไป ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์เด่นๆ
จากนักพัฒนาที่นี่จะมุ่งไปยังกลุ่ม ITES (IT Enable Services) และการรับจ้างบริหารกระบวนทำธุรกิจ (BPO : Business Processing
Outsourcing) ได้แก่ ระบบแบ็คออฟฟิศ, คอลล์
เซ็นเตอร์
ขณะที่ จากนี้ไปจะเตรียมขยายสู่การพัฒนาด้านมัลติมีเดีย
และแอนิเมชั่นมากขึ้น โดยเริ่มต้นแล้วด้วยการจับมือกับพันธมิตรในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ป้อนผลงานแอนิเมชั่นเด่นๆ
ให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด
นอกจากนี้
ยังมองไปที่การพัฒนาด้านโรโบติกส์, เจเนติก
และไบโอเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านไบโอเทคนั้น มั่นใจว่า มีศักยภาพเพียงพอ เพราะประเทศเคยประสบวิกฤติจากภาวะขาดแคลนอาหารเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา
แต่ในที่สุดก็สามารถแก้ปัญหานั้นได้ รวมถึงปัจจุบันก็ยังมีอาหารเพียงพอสำหรับประชากรร่วมพันล้านคน
พร้อมหนุนความร่วมมือไทย-อินเดีย
ขณะเดียวกัน
เขายังพร้อมที่จะประสานความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบข้างต้น ระหว่างผู้พัฒนาของไทยและอินเดียด้วย
รวมทั้งย้ำว่า การพบปะกันเพื่อนำมาสู่ข้อตกลงทางธุรกิจนั้นจะมี "บริษัทเอกชน" เป็นหัวใจสำคัญ โดยที่ผ่านมาเขาเคยให้คำแนะนำกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
(ซอฟต์แวร์ปาร์ค) ของไทย ถึงแนวทางดังกล่าวเช่นกัน
"เราพร้อมจัดสัมมนา-อบรมให้กับบริษัทที่สนใจรวมกลุ่มเดินทางมา
หรือแจ้งมาเพื่อให้เรานำกลุ่มบริษัทซอฟต์แวร์จากอินเดียไปจัดสัมมนาให้ที่ประเทศก็ได้
เชื่อว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน สามารถสร้างให้เกิดการทำธุรกรรมระหว่างภาคธุรกิจได้
(บิสซิเนส ทรานแซคชั่น)" นายราโอ
กล่าว โดยอธิบายว่า กำหนดการในวันแรกจะเป็นการนั่งสัมมนาร่วมกัน และเจรจากันในระดับบริษัทต่อบริษัทในช่วงบ่ายหรือเย็น,
วันที่ 2 ไปเยี่ยมบริษัทตามความสนใจเพื่อปรึกษาแนวทางทำธุรกิจร่วมกัน
และวันที่ 3 ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือ ซึ่งจากประสบการณ์จัดการพบปะลักษณะนี้
พบว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมสัมมนาจะบรรลุข้อตกลงเชิงธุรกิจกันได้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2546
|