"อี. พอร์เตอร์" แนะอุตฯยานยนต์ เพิ่มความสามารถชูเอกชนเดินนำ
"ไมเคิล อี. พอร์เตอร์" ชี้อุตยานยนต์ไทยยังต้องพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันอีกมาก
แนะเอกชนต้องออกมานำหน้า รัฐบาลหนุนอยู่เบื้องหลัง ย้ำประเทศไทยห้ามวางใจกับการเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย
ถ้าไม่เร่งพัฒนาโดนแซงหน้าแน่นอน
นายวัลลภ
เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากที่นายไมเคิล อี. พอร์เตอร์ ที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทย
ได้เข้าบรรยายในหัวข้อ Thailand"s Competitiveness : Creating the
Foundations for Higher Productivity เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ได้มีการเสนอโครงการพัฒนาที่มีรูปแบบคล้ายกับที่ทางสถาบันยานยนต์ทำในช่วงที่ผ่านมา
โดยมีสาระสำคัญที่การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สำคัญ ทั้งเรื่องของการสร้างบุคลากรและศูนย์ทดสอบยานยนต์ในประเทศไทย
อันดับที่สองคือการพัฒนากลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยแยกการพัฒนาออกเป็นคลัสเตอร์อย่างชัดเจน
และเรื่องที่สามก็คือ การสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างแท้จริง
ซึ่งจะต้องเป็นสถาบันร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการพัฒนาที่แท้จริง
"สิ่งที่เขาพูดก็คือ องค์กรที่เกิดขึ้น น่าจะให้เอกชนเป็นผู้นำ
โดยให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน จะเห็นว่าเขามองเรื่องของการที่เอกชนจะให้ความร่วมมือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ
เพราะว่าเอกชนเป็นผู้ที่กุมในส่วนของอำนาจในเชิงพาณิชย์ไว้ ถ้าจะพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้
เอกชนจะต้องเป็นผู้ที่ลงมือมาทำด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลเพียงลำพัง"
สำหรับเรื่องของโปรดักต์ แชมเปี้ยนที่มองว่ารถกระบะขนาด 1 ตันหรือรถปิกอัพจะเป็นสินค้าหลักของประเทศนั้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน
โดยการมองว่าประเทศไทยเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชียในปัจจุบันนั้น ก็ต้องมองว่าในอนาคตหากไม่มีการพัฒนาอย่างเร่งด่วนก็มีแนวโน้มสูงที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้
ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วนก็คือการสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามา
ตั้งรกราก ให้อยู่กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต
"เหมือนที่เราเคยบอกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เคยเป็นจุดขายของไทยนั้น
จริงๆ แล้วไม่มีประโยชน์กับแรงงานไทยเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือการเพิ่มอัตราค่าแรงให้สูงขึ้น
แต่ก็ต้องทำงานได้มากขึ้น และเขาไม่หนีเราไปไหน นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นไปอย่างยั่งยืน
นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขามองว่าเราต้องพัฒนาเป็นการเร่งด่วน"
นายวัลลภกล่าวต่อว่า ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขเป็นการเร่งด่วนก็คือการเป็นนักวางแผนระดับโลก
ซึ่งยังขาดผู้ที่ลงมือทำอย่างแท้จริง องค์กรที่เกิดขึ้นมาจะต้องทำหน้าที่เป็นแกนนำในการพัฒนา
ขณะเดียวกันก็ต้องก่อให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมแต่ละชนิดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่านายพอตเตอร์ได้สนนับสนุนให้เกิดการตั้งศูนย์ออก แบบสำหรับรถปิกอัพในประเทศไทยขึ้นมา
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาไปสู่การออกแบบและพัฒนารถปิกอัพของประเทศไทย อันจะก้าวขึ้นสู่การสร้างแบรนด์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้นต่อไปในอนาคต
ซึ่งนายพอร์เตอร์มองว่ามีโอกาสค่อนข้างมาก เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตรถกระบะขนาด
1 ตันมากเป็นอันดับสองของโลก รองอยู่ก็เพียงแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงเท่านั้น
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2546
|