แผนร่วมมือชิ้นส่วนรถไทย-สิงคโปร์คืบ เอกชนจี้รัฐลดภาษีล่อใจเข้าโครงการ

แผนยกระดับผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์คืบอีกขั้น สศอ.เร่งมือร่าง 'ทีโออาร์' ตีกรอบความร่วมมือระหว่างไทยสิงคโปร์ชัดเจน นัดเจรจาคณะทำงานข้ามชาติปลายเดือนสิงหาคมนี้ ชี้เอกชนจะได้สิทธิพิเศษด้านภาษีอื้อ มั่นใจพัฒนาอุตฯยานยนต์ไทยก้าวกระโดด

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีของไทยลงนามความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเลือกอุตสาหกรรม 2 สาขาที่สามารถเอื้อประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ล่าสุดได้มีความคืบหน้าโดยในวันที่ 23 สิงหาคมนี้จะมีการประชุมร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนอีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผย 'ประชาชาติธุรกิจ' หลังประชุมหารือคณะทำงานชาวไทยในหมวดอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.), เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม, สถาบันยานยนต์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และตัวแทนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมว่า ขณะนี้ได้เร่งร่างกรอบ (ทีโออาร์) เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และหลักการทำงานระหว่างกัน เนื่องจากสองประเทศนี้สามารถที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ ในขณะที่สิงคโปร์ก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์

'เรื่องนี้ต้องให้เครดิตนายกรัฐมนตรีที่มองเห็นประโยชน์ที่เราจะได้รับ อย่างไรก็ตาม เราในฐานะภาครัฐจะไม่เข้าไปเล่นบทบาทเรื่องนี้เอง แต่จะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ความร่วมมือจะมีได้ทั้งจอยต์เวนเจอร์หรือการเลือกซื้อเฉพาะชิ้นส่วน รวมถึงดึงนักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในบ้านเรา ทำได้ทุกรูปแบบ ภาครัฐจะทำหน้าที่คอยสนับสนุน ใครจะแต่งกัน ใครค้าขายกับใคร ก็ไปว่ากันเอง'  นายวัลลภกล่าวว่า หลังจากได้กรอบความร่วมมือแล้ว จะมีการนัดหารือระหว่างคณะทำงานสองประเทศอีกครั้งในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ที่ สศอ. ซึ่งถึงตอนนั้นคงจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงขั้นตอนการทำงานที่จะมีขึ้นในอนาคต 'อีกส่วนที่เราต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากเรามีแต้มต่อในฐานะที่เรามีฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นที่ล้าหลัง ชิ้นส่วนด้านอื่นๆ เราไม่เป็นรองใคร ดังนั้น ถ้าทำแล้วเราไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องทำ' นายวัลลภกล่าว และเปิดเผยต่อไปว่า อนาคตความร่วมมือนี้จะขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ที่เล็งๆ ไว้ อาทิ ออสเตรเลีย เยอรมนี ร่วมกลุ่มประเทศอียู

ผอ.สถาบันยานยนต์ยังกล่าวอีกว่า โครงการนี้หลังจากที่ปรึกษาหารือกับภาคเอกชนหลายครั้ง ก็มีข้อเสนอมากมาย โดยเฉพาะการเสนอขอสิทธิพิเศษหลังเข้าร่วมในโครงการ อาทิ คิดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนในอัตราพิเศษ รวมทั้งการหักลดหย่อนภาษีวัตถุดิบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราบรรจุไว้ในแผนแม่บทอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ หลังการหารือเรียบร้อยคาดว่าไม่เกิน 3 ครั้ง ทางคณะทำงานจะต้องส่งผลการศึกษาทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ภายในเดือนกันยายนนี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.