คาดปี 46 ยอดผลิตทะลุ 7 แสน
อุตสาหกรรมรถยนต์คาด ผลการย้ายฐานปิกอัพ 2 ยักษ์ใหญ่
โตโยต้า อีซูซุ ส่งผลปี 46 ยอดผลิตรวมทะลุ 7 แสน ขณะที่ตลาดในประเทศมีความต้องการ 5 แสน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้สงคราม
และจีน อุปสรรคใหญ่การเติบโต
นายอัจฉรินทร์ สารสาส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2546 ว่า
ในส่วนของภาคการผลิตจะมีสูงกว่า 6.6 แสนคัน
ทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดทั้งในประเทศ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.4-5 แสนคัน และการส่งออกในส่วนที่เหลือ 2.1-2.6 แสนคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทั้ง
2 ตลาด ทั้งนี้ตลาดปีนี้ คาดว่าเมื่อครบทั้ง 12 เดือน ยอดจำหน่ายโดยรวมจะอยู่ที่ 4 แสนคัน
ส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ 1.6-1.7 แสนคัน
ซึ่งทำให้การผลิตโดยรวมอยู่ที่ 5.6-5.7 แสนคัน
ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายที่หลายค่ายตั้งไว้
นายอัจฉรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของตลาดในประเทศปี 2546 ที่คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นนั้น
เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และการที่หลายค่ายรถยนต์มีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่
ส่วนตลาดส่งออกนั้น การที่ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า และอีซูซุ เปิดแผนทำตลาดรถปิกอัพ ต่างประเทศอย่างเป็นทางการหลังการย้ายฐานการผลิตปิกอัพทั้งหมดจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย
ทำให้ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน "การส่งออกของรถจากทั้ง
2 ค่ายนี้ มีจำนวนมาก ส่งผลให้ตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นในภาพรวมการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ก็อาจจะมีผลทำให้ราคารถปิกอัพที่จำหน่ายในประเทศของ 2
ค่ายนี้ ลดลงไปด้วยเช่นกัน"
ปิกอัพ รถเล็กแข่งดุ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะตามมาของตลาดรถปิกอัพที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการขายประมาณ
60% ของตลาดรวม จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างโตโยต้าและอีซูซุ ที่แย่งชิงการเป็นเจ้าตลาดกันอยู่ในขณะนี้
ส่วนตลาดที่คาดว่าจะมีความรุนแรงรองลงมาก็คือตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีคู่แข่งรายใหม่เตรียมเข้าร่วมอยู่หลายราย
"ส่วนรูปแบบรายการส่งเสริมการขายก็คงไม่มีอะไรต่างจากปี 2545 คือการลดแลกแจกแถม ผ่อนระยะยาวและดาวน์ 0% แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการน่าจะให้ความสำคัญนำมาใช้เป็นจุดขายมากขึ้นก็คือ
การบริการ ที่สามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างดี" นายอัจฉรินทร์กล่าว
สงคราม-จีน อุปสรรคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
นายอัจฉรินทร์กล่าวว่า
ยอดจำหน่ายของรถยนต์ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นทุกปี ทำให้คาดว่าตลาดโดยรวมจะสามารถกลับไปยังจุดสูงสุดที่มียอดขายถึง
5.9 แสนคันเมื่อปี 2539 ในระยะไม่นานนับจากนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่อาจจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยก็คือ
ภาวะสงคราม ที่หลายฝ่ายวิตกว่าอาจจะเกิดขึ้น และส่งผลต่อราคานํ้ามัน ซึ่งหากเกิดสงครามขึ้นจริง
ก็ต้องพิจารณาอีกว่า มีวงกว้างและระยะเวลายาวนานแค่ไหน เพราะสงครามบางครั้งอาจอยู่ในการควบคุมได้
แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นว่าจะเป็นปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงมากในระยะยาว คือ การเข้ามาของธุรกิจชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์
และรถจักรยานยนต์จากประเทศจีน ซึ่งมีแนวโน้มว่าสินค้าจีนเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้น และสินค้าจากจีนมีราคาที่ตํ่ากว่าของไทย
ซึ่งที่เห็นชัดขณะนี้ก็เช่นรถจักรยานยนต์ ที่รถจากจีน
สามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าที่ผลิตในไทยถึง 40%
"บริษัทผลิตชิ้นส่วน
และอะไหล่รถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศทางใดทางหนึ่ง
ดังนั้นหากบริษัทเหล่านี้มองว่าการย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนหรือฐานผลิตรถยนต์ไปยังประเทศจีน
จะลดต้นทุนได้มากกว่า สามารถสร้างกำไรได้มากกว่าเดิม ในระยะยาว เป็นไปได้ที่จะมีการย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้น
ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในการลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
ให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยดึงให้นักลงทุนไม่ขนเม็ดเงินเหล่านี้หนีไปอยู่ที่อื่น"
นายอัจฉรินทร์กล่าว
สมาคมอุตฯยานยนต์ไทยเชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
ด้านนายอดิศักดิ์ โรหิตศุน
นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในปี
2546 สมาคมคาดการณ์ความต้องการรถยนต์ในประเทศรวมทุกชนิด
จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 12-22% หรือคิดเป็นยอดขายรวม 4.6-5 แสนคัน ขณะที่ตัวเลขการขายในปีนี้จะอยู่ที่ 4.1 แสนคัน
ส่วนการส่งออกปีหน้า คาดว่าจะมีจำนวนไม่ตํ่ากว่า 2 แสนคัน
"การเติบโตของตลาดรวมรถยนต์ ยังคงเป็นภาพบวก
และส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อะไหล่รถยนต์ รวมถึงภาคการบริการให้เติบโตควบคู่กันไปด้วย"
นายอดิศักดิ์กล่าวว่า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดรวมรถยนต์ของประเทศไทย มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ก็คือ
การย้ายฐานผลิตรถปิกอัพทั้งหมดของ อีซูซุ และ โตโยต้า มาที่ประเทศไทยในปี 2546
รวมไปถึงการพยายามหาตลาดใหม่ๆ ของผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคเกษตรกรรมก็มีการเติบโตที่ดี นโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศก็ประสบความสำเร็จ
รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต่างก็ใช้กลยุทธ์รายการส่งเสริมการขาย ในหลายรูปแบบออกมาแข่งขันกันอย่างรุนแรง
เช่น การลดราคา การผ่อนระยะยาวแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ การแถมของพรีเมียม
ซึ่งสามารถกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ขอ 3 ปีกลับจุดสูงสุด
นายอดิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบที่นอกเหนือจากสงครามที่ยังคงไม่มีความแน่นอนนั้น
ยังมองไม่เห็นสัญญาณที่จะก่อผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ จึงทำให้มีความมั่นใจตลาดรถยนต์ไทยจะเติบโตต่อเนื่องต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศหากจะกลับสู่ช่วงที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 5.9 แสนคันในปี
2539 นั้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ด้านสภาพการแข่งขันของตลาด
ในปี 2546 ตลาดยังคงมีการแข่งขันที่เข้มข้น เนื่องจากบางบริษัทต้องการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้ครบทุกเซ็กเมนท์
และผู้ประกอบการหลายค่ายเตรียมนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาทำตลาด "ในปี 2546
จะเห็นการแข่งขันทางด้านการให้บริการแก่ลูกค้าในรูปแบบใหม่ โดยงบประมาณส่วนใหญ่เชื่อว่าจะถูกใช้เพื่อจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ
ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอะไหล่รถยนต์ พยายามลดราคาอะไหล่ลง เนื่องจากมีคู่แข่งมาก
การแข่งขันสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัว" นายอดิศักดิ์กล่าว
โตโยต้าระบุสิ้นสุดการเติบโตก้าวกระโดด
นายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ในปี 2546 ว่า ในมุมมองแล้วเชื่อว่าภาวะตลาดรถยนต์จะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นประมาณ
15% เป็นการเติบโตในสัดส่วนที่น้อยกว่าปี 2545 ที่โตโยต้าคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2545 ยอดขายรถยนต์โดยรวมจะโตจากปี
2544 ประมาณ 30-40% ทั้งนี้การที่ปีนี้ยอดขายรถยนต์เติบโตแบบก้าวกระโดด
เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่างมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะทางการเงิน
ภาวะการกระตุ้นตลาดของภาครัฐ และที่สำคัญเรื่องของการเปิดตัวรถใหม่และการจัดรายการส่งเสริมการขาย
"ปีนี้นับเป็นปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ถึงจุดสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เพราะว่ามีหลายตัวแปรเข้ามาสนับสนุน เราเชื่อว่าตลาดรถยนต์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ไทยยังไม่ได้กลับไปถึงจุดสูงสุดเหมือนที่เคยเป็นมา
ในปีหน้าส่วนตัวผมมองว่า อัตราการเติบโตจะกลับไปอยู่ในภาวะปกติคือ 10-15% ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะวิเคราะห์ตัวเลขการขาย
ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ในการทำงานของเรา
โตโยต้าจะประเมินสถานการณ์ทุกเดือน เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา"
นายซาซากิกล่าว
ทั้งนี้สำหรับตัวเลขการขายในปี 2546 โตโยต้าคาดว่าตลาดในประเทศจะมียอดขายรวมรถทุกประเภท
4.5 แสนคัน และตลาดส่งออกมียอดขาย 2.5
แสนคัน ซึ่งทำให้ยอดการผลิตรวมของไทยมีทั้งสิ้น 7 แสนคัน นายซาซากิกล่าวว่า
สำหรับในปี 2546 หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดภาวะสงคราม จนส่งผลกระทบกับภาวะทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก
แต่ตนมองว่าสถานการณ์ไม่น่ารุนแรง เพราะผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐคงต้องตระหนักดีว่า
ถ้าเกิดสงครามแล้ว ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มกราคม
2546
|