ตลาดเอเชียขานรับลินิกซ์ มูลค่าแตะพันล้านในปี 51

ไอดีซี เผยแนวโน้มตลาดเอเชียแปซิฟิกลงทุนลินิกซ์เพิ่ม กระตุ้นตลาดโตถึง 5 เท่าตัวภายใน 5 ปี เหตุภาคธุรกิจมั่นใจด้านความน่าเชื่อถือของระบบ และหนุนเป้าหมาย ควบคุมต้นทุน ด้านตลาดวินโดว์ส ยังมีโอกาสขยายตัว จากความหลากหลาย ของแอพพลิเคชั่น และใช้งานง่าย

 

นายอัฟนีช แซคซีน่า รองประธาน คอมพิวติ้ง ซิสเต็มส์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น เอเชียแปซิฟิก หรือไอดีซี กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของระบบปฏิบัติการลินิกซ์ จะคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของจำนวนเครื่องแม่ข่ายที่วางตลาดในปี 2551 ขณะที่ ในส่วนของมูลค่าตลาดลินิกซ์สำหรับเครื่องแม่ข่าย ในภูมิภาคนี้ยกเว้นญี่ปุ่น จะเติบโตจาก 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมาเป็น 1,086 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่องค์กรเลือกใช้ลินิกซ์ เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนซอฟต์แวร์ แต่มีความน่าเชื่อถือของระบบสูง ขณะเดียวกัน ยังรองรับการเพิ่มขยายระบบในอนาคต

 

สำหรับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการด้านธุรกิจอื่นๆ ก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ ยังคงครองตลาด ในส่วนของแอพพลิเคชั่นที่มีความสำคัญยิ่งยวด โดยจะมีมูลค่ารวม 3,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 4 ปีข้างหน้า จากในปี 2546 ที่มีมูลค่าตลาด 1,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ตลาดวินโดว์ส ยังเติบโตอยู่จากปัจจัยด้านความง่ายการใช้งาน และจำนวนแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุน โดยขยายตัวจาก 2,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 เป็น 3,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551

 

นายแซคซีน่า กล่าวอีกว่า ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจ กำลังเผชิญกับแรงกดดันใหม่ๆ จากภายนอกประเทศ ที่ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกฎระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศ (Regulation Compliance) ทั้งนี้ เขายกตัวอย่างปัจจัยคุกคามจากข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลของสหรัฐ ซึ่งกระทบถึงธุรกิจที่มีการค้ากับบริษัทในสหรัฐ ทำให้จำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลย้อนหลังมากขึ้น ดังนั้นองค์กรต้องลงทุนสูงขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสำรองข้อมูล ส่งผลให้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตรงกับความต้องการธุรกิจได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น องค์กรมีแนวโน้มจะลงทุนใช้จ่าย ด้านซอฟต์แวร์จัดการโครงสร้างพื้นฐานของระบบเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากไอดีซีไตรมาส 2 ปีนี้ ระบุว่ากว่า 43.4% ของการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ จะเป็นสัดส่วนของซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ 31.1% เป็นการลงทุนด้านระบบงาน และอีก 25.2% เป็นซอฟต์แวร์เครื่องมือพัฒนา (ทูลส์)

 

ขณะที่มีประมาณการว่า อัตราเติบโตเฉลี่ยของซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานใน 5 ปี ข้างหน้าว่า จะอยู่ในระดับ 12.5% โดยซอฟต์แวร์ด้านรักษาความปลอดภัยระบบ (ซิเคียวริตี้) จะมีอัตราเติบโตสูงสุดในกลุ่มนี้ หรือเกือบ 18% รองลงมาเป็นซอฟต์แวร์จัดการระบบจัดเก็บข้อมูล (สตอเรจ) และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน ในสัดส่วนสูงกว่า 14% ขณะที่ ซอฟต์แวร์จัดการระบบไอทีรวม (ซิสเต็มส์ แมเนจเมนท์ ซอฟต์แวร์) จะเติบโตกว่า 11% พร้อมกันนี้ เขาได้เปิดเผยถึงผลสำรวจที่ระบุว่า องค์กรมีแนวโน้มจะใช้บริการไอทีจากบริษัทภายนอก (เอาท์ซอร์สซิ่ง) เฉพาะงานบริการพื้นฐาน ที่ไม่ใช่ส่วนยุทธศาสตร์องค์กร หรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลลูกค้า

 

โดยงานที่ใช้บริการภายนอก ได้แก่ บริการมอนิเตอร์และจัดระบบไอทีระยะไกล (รีโมต มอนิเตอริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์) การสนับสนุนเทคนิคและให้คำปรึกษาลูกค้า (เฮลพ์เดสก์) ขณะที่งานโฮสติ้ง ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนงานด้านดูแลลูกค้า (คัสโตเมอร์ แคร์) และงานเกี่ยวข้องกับกระบวนธุรกิจที่สำคัญในองค์กร รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านไอทีนั้น ยังคงเน้นการใช้ทีมงานภายในองค์กรเป็นหลัก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.