ศักยภาพเอเชียสุดปึ๊ก ขีดแข่งขันไทยขยับ 1 ขั้น ไอเอ็มดีชูขึ้นอันดับ 29

ขีดแข่งขันไทยขยับดีขึ้น 1 ขั้น รั้งอันดับ 29 ในทำเนียบ IMD ประจำปี 2547 ขณะแชมป์ยังเป็นของสหรัฐ ตามด้วยสิงคโปร์ และแคนาดา นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของ IMD ระบุเอเชียจะก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพสูงระดับโลกในอนาคต

สถาบันการพัฒนาการจัดการสากล หรือ IMD เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกประจำปี 2547 โดยพบว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยได้เพิ่มจากอันดับที่ 30 เมื่อปีที่แล้ว ไปอยู่ที่อันดับ 29 ขณะที่สหรัฐยังคงรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของโลก ตามสิงคโปร์ด้วยที่พลิกสถาน การณ์จากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับแคนาดาที่ก้าวจากอันดับ 6 มาอยู่อันดับ 3

ในรายงานของ IMD ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเทศหรือเขตปกครองที่มีอันดับขีดแข่งขันดีขึ้นจากปีก่อนมาก โดยในกลุ่ม 10 อันดับแรก พบ เจ๋อ เจียง ของจีนกระโดดจากอันดับ 38 มาอยู่ที่อันดับ 19 อินเดีย จากอันดับ 50 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 34 ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ขยับจากอันดับ 29 มาอยู่ที่อันดับ 24 และฮ่องกงก้าวจากอันดับ 10 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 6

ศาสตราจารย์สเตฟาน กาเรลลี ของ IMD ให้ความเห็นในบทสรุปผู้บริหารว่า ในโลกยุคใหม่ เอเชียก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันที่ภูมิภาคนี้ได้เริ่มกลายเป็นแหล่งที่น่าลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยพบว่าปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)ได้ไหลเข้าสู่เอเชียมากกว่า 60% ของปริมาณ FDI ทั้งหมด แม้ว่าในจำนวนนั้น 32.5% จะไหลเข้าสู่จีน

ศาสตราจารย์กาเรลลีตั้งข้อสังเกตว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้นของชาติใหญ่ๆ ในเอเชีย จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของโลก ซึ่งแบ่งพัฒนา การออกเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะแรก จีน อินเดีย และประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจสัญชาติยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ อเมริกา ส่งผลให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่อินเดียเป็นผู้มอบการปฏิบัติการสนับสนุน และไทยเป็นตัวกลางจัดประชุมของกลุ่มต่างๆ

จากนั้นในระยะที่สอง ประเทศเหล่านี้จะสร้างอำนาจการซื้อ ผลิตชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและสั่งสมความร่ำรวยส่วนบุคคล ผลที่ตามมาก็คือ พวกเขาจะกลายเป็นผู้จัดหาตลาด โดยจีนกลายเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งด้านธุรกิจโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่วนอินเดียจะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เหมือนกับที่มาเลเซียและสิงคโปร์เคยทำในอดีต

สำหรับระยะที่สาม เอเชียจะกลายเป็นผู้แข่งขันระดับโลกด้วยตัวเอง โดยผลักดันบริษัทท้องถิ่นให้เป็นบริษัทระดับโลก พร้อมเริ่มส่งออกสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเหมือนกับรูปแบบของญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ทั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตอย่างรวดเร็ว จากที่เคยผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็น การผลิตสินค้ามาตร ฐานโลก และกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

จากพัฒนาการเหล่านี้จึงกล่าวได้ว่าชาติเอเชียขนาดใหญ่จะแจ้งเกิดในฐานะผู้แข่งขันที่แข็งแกร่งในการแข่งขันระดับโลก ซึ่งปัจจุบันแบรนด์เนมชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ โซนี่ โตโยต้า นิสสัน และฮิตาชิ ล้วนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในขณะที่แบรนด์ของจีนมีชื่อเสียงด้อยกว่า และเมื่อจีนเดินตามรอยของญี่ปุ่น ทำให้อีกไม่นานยี่ห้อคอนคา หัวเว ไฮเออร์ หัวยี่ สกายเวิท และมีเดีย กลายเป็นชื่อคุ้นหูของคนทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ทีแอลซีแบรนด์ชั้นนำของจีนตัดสินใจซื้อแผนกโทรทัศน์จากบริษัททอมสันของฝรั่งเศส ผลักดันให้บริษัทขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายโทรทัศน์ชั้นนำของโลก

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.